ถาม จารณ์นพ หน่อยครับว่าข้าวเหนียวธัญสิริน ของคุณนพทำไมเตี้ยนิดเดียว แต่ของผมทำไมสูงประมาณ 120 ได้ แล้วก็ล้มด้วย แต่ของผมน่าจะเกิดจากการงามเกินหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะต้นสูงใบหนา และล้มตั้งแต่ยังไม่ออกรวง ทำให้ได้ผลผลิตน้อยด้วยครับ
อ้อ ผมซื้อพันธ์มาจากในเวปเรานี่แหละครับ

สวัสดีครับ
เรื่องของข้าวเหนียวธัญสิริน จัดเป็นข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ที่พัฒนามาไม่กี่ปีนี้เอง
ยังไม่มีข้อมูลจำเพาะที่ชัดเจนเผยแพร่ออกมามากครับ เท่าที่ไปไล่หาข้อมูลในอินเตอเน็ต
ส่วนมากจะมีแต่ที่มาของพันธุ์ ที่มาของชื่อ ข้อเปรียบเทียบกับข้าวเหนียว กข.6 เดิม ฯลฯ
ผมขอเอาข้อมูลที่หาได้เอามาให้ดูก็แล้วกันนะครับ
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.)
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น จาก
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พระราชทานนามข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ “ธัญสิริน”
ซึ่งมาจากคำว่า “ธัญ” ที่แปลว่าข้าว และพระนาม “สิรินธร”
ถือเป็นข้าวพันธุ์แรกที่ได้รับพระราชทานนามจาก
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

รูปลักษณะของต้น ดอก รวง และเมล็ดของข้าวเหนียวธัญสิริน
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช.
ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน อาทิ
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
และกรมการข้าว กระทรวงเกษตรฯ นำเทคโนโลยีชีวภาพ
หรือไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) มาปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว กข 6
โดยพัฒนาเครื่องหมายทางพันธุกรรมที่ควบคุมลักษณะสำคัญ
คือ สามารถต้านทานโรคไหม้ ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรม
หรือ GMO (Genetically Modified Organism) เลย


“ธัญสิริน” เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวหอม
ที่มีคุณภาพเทียบเท่าพันธุ์ กข6
แต่มีคุณสมบัติต้านทานโรคไหม้
และมีการกระจายพันธุ์ข้าวนี้ไปแล้วหลายพื้นที่
ในภาคเหนือที่จังหวัดน่าน เชียงราย และลำปาง
ในภาคอีสาน มีที่จังหวัดสกลนคร ชัยภูมิ
และที่จังหวัดอุบลราชธานี
ที่มา :
http://www.most.go.th และ
http://www.biotec.or.th ข้าวธัญสิริน
ที่มา: เปิดตัวข้าวเหนียวชื่อพระราชทาน “ธัญสิริน” ต้านทานโรคไหม้
หลังจากให้เกษตรกรภาค เหนือ-อีสานทดลองปลูกข้าวเหนียว กข 6 ที่ปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรมทำให้ต้านทานโรคไหม้ ซึ่งเพิ่มผลผลิตและลดความเสียหายจากปัญหาข้าวล้ม ล่าสุดข้าวพันธุ์ดังกล่าวที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยได้รับพระราชทานนาม “ธัญสิริน” จากสมเด็จพระเทพฯ
ชาวนาในเขตภาคเหนือและอีสานนิยมปลูกข้าวเหนียวไว้กิน แต่ข้าวเหนียว กข 6 ซึ่งเป็นข้าวเหนียวพันธุ์ดีที่สุดในประเทศนั้น มีปัญหาเรื่องโรคไหม้ ที่ทำให้ต้นกล้าตายและในพื้นที่น้ำน้อยไม่สามารถเพาะปลูกซ้ำได้หากเกิดความ เสียหายจากโรคดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงข้าวเหนียวพันธุ์ดังกล่าวให้ต้านทานต่อโรคไหม้ ด้วยเทคนิคการใช้ยีนเครื่องหมาย (Marker Gene) เพื่อคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ต้องการ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545-2546 และใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์ประมาณ 4 ปี
ปัจจุบันชาวนาใน จ.น่าน เชียงราย ลำปาง สกลนคร ชัยภูมิ และอุบลราชธานี ได้ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์นี้แทนข้าวเหนียว กข 6 มา 3 ปีแล้ว รวมเป็นพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 5,000 ไร่ โดยเฉพาะชาวนาในจังหวัดน่านซึ่งได้รวมกลุ่มกันขยายเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวดัง กล่าว โดย
ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 800 กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าผลผลิตจากการปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ กข และบางพื้นที่ให้ผลผลิตสูงถึง 1,000 ไร่ โดยเฉพาะแปลงนาอินทรีย์ที่มีการดูแลเป็นพิเศษ ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ผู้พัฒนาพันธุ์ข้าวดังกล่าวอธิบายว่า
เหตุที่ข้าวเหนียวพันธุ์นี้ ให้ผลผลิตสูงขึ้น เพราะนอกจากข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่จะต้านทานโรคไหม้แล้ว ยังไม่ล้มง่ายเหมือนข้าวเหนียวพันธุ์เดิมที่ชาวนาปลูก จึงทำให้ได้ผลผลิตมากกว่า แต่จริงๆ แล้วทั้ง 2 พันธุ์ให้ผลผลิตใกล้เคียงกัน โดยผลผลิต โดยข้าวเหนียว กข 6 เดิมเสียผลผลิตจากข้าวล้มมากถึง 40% “ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่นี้หุงง่ายกว่าเดิมเพราะไม่ต้องแช่ทิ้งไว้ข้าม คืนเหมือนข้าวเหนียว กข 6 และยังให้เปอร์เซ็นต์ขัดสีสูง คือ เมล็ดไม่หักเมื่อนำไปขัดสีเพราะมีเมล็ดอ้วนกว่าข้าวเหนียวพันธุ์เดิมเล็ก น้อย อีกทั้งรสชาติยังไม่ต่างไปจากเดิมด้วย” ดร.ธีรยุทธกล่าว
หลังจากให้เกษตรกรปลูกมาระยะหนึ่งแล้ว ทีมวิจัยได้ขอพระราชทานนามสำหรับข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่จากสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อกลางปีที่ผ่านมาในช่วงเริ่มต้นฤดูกาล และเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ทีผ่านมา ข้าวเหนียวพันธุ์นี้ได้รับพระราชทานนามว่า “ธัญสิริน” โดยทาง ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า จะนำเรื่องข้าวเหนียวพันธุ์นี้เข้ารายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขยาย ผลต่อไป
ธัญสิรินพันธุ์ข้าวเหนียวชื่อพระราชทาน
ที่มา: ธัญสิรินพันธุ์ข้าวเหนียวชื่อพระราชทาน
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงความสำเร็จนักวิจัยไทย พัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ต้านทานโรคใบไหม้ ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ได้รับพระราชทานนาม "ธัญสิริน" ปลูกแทน กข.6
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 ให้มีความสามารถในการต้านทานโรคไหม้ ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 ว่า "ธัญสิริน"
ข้าวธัญสิริน เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2545 ใช้เวลาประมาณ 4 ปี โดยอาศัยเทคนิคเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับพันธุ์ กข6 แต่มีความสามารถในการต้านทานโรคไหม้
ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า
ลักษณะเด่นของสายพันธุ์นี้คือ ลำต้นแข็งแรงทนการหักล้ม ให้ผลผลิตอยู่ที่ 800 กิโลกรัมต่อไร่ ลดเปอร์เซ็นต์ข้าวหัก โดยพื้นที่ปลูกที่เป็นออร์แกนิกส์ สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่“เมล็ดพันธุ์ข้าวธัญสิริน นำไปทดลองปลูกในนาข้าวของเกษตรกร 5 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง ชัยภูมิ และสกลนคร โดยปลูกแทนข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 เดิม ในช่วงเวลา 3 ปี พบว่าสามารถลดความเสียหายในนาข้าวได้ถึง 30%” นักวิจัยกล่าว
ทั้งนี้โครงการวิจัยดังกล่าวกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่ได้พัฒนาเมล็ดพันธุ์แจกจ่ายให้กับเกษตรกรในภาคเหนือ และอีสาน นำไปเพาะปลูก
"กระทรวงวิทยาศาสตร์เตรียมนำเสนอข้อมูลผ่านคณะรัฐมนตรี เพื่อสนับสุนนให้ขยายพื้นที่เพาะปลูก จาก 5,000 ไร่ ไปยังพื้นที่อื่นๆ " ดร.วีระชัย กล่าวและย้ำว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียวธัญสิริน ไม่ใช่วิธีการดัดแปรพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทย
