- มาแว้ววว ครู tera รายงานตัวต่อนักเรียนและภารโรงครับผม
- วันนี้ออกบ้านไปรับ ดร.วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช 8 โมง (สาย 6 นาที) แล้วเดินทางไปสะเมิง ใช้เวลา 1 ชั่วโมง ผ่านแม่สา ผ่านโป่งแยง เลี้ยวขวาเข้าสะเมิง ไปพบ ผจก.ธกส.สะเมิง คุณถนัด ที่เป็นธุระให้ตลอด 3 ปีที่ผ่านเพื่อเปลี่ยนรถ (จากการทำงานร่วมกันทำให้เห็นภาพการทำงานของ ธกส.ว่าเหนื่อยกับการเข้าหาและช่วยเหลือเกษตรกร ไม่มีภาพการทำงานนั่งโต๊ะอย่างที่หลายคนพูดกัน วันนี้ก็ได้เจ้าหน้าที่สินเชื่อทำหน้าที่ขับรถ)
- จากสะเมิงก็ใช้เวลาอีก 1 ชั่วโมงขึ้นไปตำบลบ่อแก้ว แหล่งสตรอเบอรี่ที่ใหญ่ที่สุดของเชียงใหม่ วันนี้ผมขอให้นัดเกษตรกรและพี่ดำรงค์กับพี่วิทยา เพื่อหาทางขยายผลจากการเข้าพื้นที่ 2 ปีก่อน
- วันนี้มีเกษตรกรมาไม่มาก มาตามสมัครใจ ประมาณ 20 คน ก็มีพัฒนากรอำเภอลุยไปก่อนตามแผนงานโครงการอื่นของอำเภอ หลังจากนั้นผมก็เอารูปกองปุ๋ยจากที่ต่าง ๆ มาฉายให้เกษตรกรดู (ก็รูปเดียวกันกับที่นักเรียนได้ดู

) ผมกล่าวถึงสาเหตุและปัญหาการเป็นกรดของดินที่นี่ การแก้ปัญหาดินเป็นกรดด้วยการทำและใช้ปุ๋ยหมัก พูดถึงพี่ดำรงค์และพี่วิทยาที่ประสบความสำเร็จและมีสตรอเบอรี่ขายฉลุย ผิดกับสวนอื่น
- ต่อจากนั้นก็ขอให้พี่ดำรงค์มาพูด แกพูดได้น่าฟังมาก แกเล่าว่าแกทำสตรอเบอรี่มาก็เกือบ 20 ปีแล้ว ในปีแรก ๆ ลงทุนปีละเกือบแสนเพราะจะมีเซลแมนมาขายปุ๋ยเคมีสารเคมีและระบบน้ำ และก็ได้ผลดี แต่ตอนนี้แกมองย้อนกลับแล้วคิดว่าความจริงดินที่แกไปเปิดใหม่มันอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว ถึงไม่มีการลงทุนมากมันก็ควรจะได้ผลิตผลดีอยู่แล้ว ลงทุนมากทุกปีเมื่อหักรายได้แล้วก็เหลือไม่มาก เมื่อสามสี่ปีก่อนดินเสียเป็นกรดมีโรคระบาดแกก็เจ๊งเหมือนกับคนอื่น ๆ แต่เมื่อมีอาจารย์จากหลายแห่งเข้ามาช่วยที่นี่ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระเทพฯ แกก็ได้ลองปรับเปลี่ยนและเลือกแนวทางที่แกพอทำได้ อันไหนยากแกก็ไม่ทำ ส่วนปุ๋ยหมักไม่กลับกองนี่แกเลือกที่จะทำพร้อมกับการทำน้ำขี้หมูและน้ำหมักสมุนไพร
- การทำน้ำขี้หมู มีอาจารย์มาสอนที่นี่ วิธีการคือเอาขี้หมูแห้ง"จากฟาร์ม" 10 กก.แขวนไว้ในถัง 100 ลิตร ทิ้งไว้ 1 วัน แล้วเอาไปใช้ทางดิน วิธีใช้ก็คือเจือจาง 1 ลิตรต่อ 20 ลิตร ซึ่งพี่วิทยาบอกว่าได้ผลดี คาดว่าเป็นเพราะขี้หมูจากฟาร์มกินอาหารที่มีแร่ธาตุสูงและมีไนโตรเจนจากฉี่ด้วย ผักของแกเห็นผลในสามวัน ส่วนน้ำหมักสมุนไพรเป็นของ ดร.นุชนาฎ จากโครงการหลวง ท่านหมักสมุนไพรหลายตัวที่สามารถแก้ไขปัญหาโรคทางใบได้ (ราแป้ง ใบจุด ไร เพลี้ยแดง)
- แกเล่าว่าภายหลังจากการเปลี่ยนวิธีการ ตอนนี้ต้นทุนของแกต่ำมาก แกอยู่ในสวนก็สบายใจเพราะไม่มีกลิ่นของยาเคมีอีกต่อไป แกคิดว่าแกเป็นด่านแรกของการเป็นโรคภัยจากการใช้ยาเคมี ด่านถัดไปก็คือผู้บริโภค ตอนนี้แกทำปุ๋ยหมักไว้ในสวน เก็บใบไม้ที่บ้านใส่ถุงแล้วเอาไปทำปุ๋ย แกจะต้องมีกองปุ๋ย 2 กองในสวนเสมอเพื่อไม่ให้ขาดแคลน ตอนนี้แกก็ลดพื้นที่ปลูกเหลือ 5 ไร่ให้พอที่ 2 คนผัวเมียจะเอาหญ้าได้ทัน แกพอใจกับตรงนี้มากและคิดว่านี่คือความยั่งยืนในชีวิตเกษตรกร ใครสนใจก็ให้ไปดูสวนแกได้ (ต้นปีนี้แกขายสตรอเบอรี่ได้ กก.ละ 250 บาท และสามารถเก็บกินในสวนได้เลย)
- ถัดมาก็เป็นคิวของพี่วิทยา แกบอกว่าแกเป็นวิทยากรเผยแพร่วิธีการทำปุ๋ยให้กับชุมชนอื่นด้วย ทำใช้ด้วย ก่อนนี้ทำแบบพลิกกอง แต่ตอนนี้สบายขึ้นมาก แกแนะให้เกษตรกรต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง แกเตือนเกษตรกรว่าให้ระวังเรื่อง AEC ในอนาคต เพราะหากยังเป็นสตรอเบอรี่เคมี ก็จะขายแข่งของจีนของลาวไม่ได้ เพราะเขาขายถูก แนวทางที่จะเอาตัวรอดก็น่าจะเป็นแนวทางใหม่ ๆ อย่างเช่นทำสตรอเบอรี่อินทรีย์ ในวันที่ 28 ทาง วว.ก็เชิญแกไปบรรยายที่กรุงเทพด้วย และตอนนี้แกก็กำลังเจรจากับห้างเซเว่นที่จะส่งสตรอเบอรี่อบแห้ง ซึ่งก็จะเป็นก้าวที่ใหญ่มากของตำบล แต่เกษตรกรที่เข้าร่วมต้องปรับเปลี่ยน และลดสารเคมีทันที
- ส่วน ดร.วรวรรณ ก็ได้แนะนำเรื่องการปฏิบัติที่ดีในสวน อย่างเช่นการเอาใบที่ติดโรคไปเผาทำลายทันทีในที่ไกล ๆ การห้ามทิ้งมะละกอกับผลไม้เน่าไว้ใกล้แปลงเพราะจะทำให้เชื้อราดำเข้าผล แกแนะการนำผ้าพลาสติกกว้าง 1 เมตรมาคลุมดินเป็นแถวยาว เอาหินทับขอบไม่ให้อากาศเข้า คลุมไว้ 2-3 เดือน ความร้อนสะสมจะสามารถทำลายเชื้อโรคในดินและหญ้าได้
- ผมตบท้ายด้วยการชวนให้มาดูงานที่ฐานเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักไม่กลับกองที่แม่โจ้ หรือจะไปดูที่สวนพี่ดำรงค์กับพี่วิทยา แถมแหย่ให้ลองผลิตขาย ก็เห็นทำหน้าหงึก ๆ หงัก ๆ กัน ไม่รู้ว่าได้ไอเดียหรือไม่เข้าใจก็ไม่รู้ ก็หวังว่าในปีนี้ก็น่าจะมีสมาชิกใหม่เพิ่มอีกหลายคน เดี๋ยวช่วงกันยา ตุลา ก็จะขึ้นไปใหม่



- ผู้ใหญ่บ้าน

- พี่ดำรงค์

- พี่วิทยา

-ดร.วรวรรณ

- ขากลับพอใกล้จะมาถึงมหาลัย ไปเจอข้างทางกำลังเผาฟางในนา เซ็งมากเลย เสียดายยยยยย
