เอามาฝากคนรักไผ่
................................
แหวกป่าเช็คสถานการณ์"ไผ่"!!! "หญ้า"สารพัดประโยชน์ที่คนไทยมองข้าม (สกู๊ปแนวหน้า)
นี่ก็ "สูญหาย".....
นั่นก็ "สูญพันธุ์".....
อะไรๆที่ในอดีตเคยมีอยู่ดาษดื่นในเมืองไทย มาถึงยุคปัจจุบันหลายสิ่งหลายอย่างมีปริมาณลดวูบลงมากอย่างน่าตกใจ บางอย่างถึงกับต้อง "นำเข้า" เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่พุ่งพรวดสวนทางกับปริมาณที่มีอยู่เองในเมือง ไทย ในจำนวนนี้ไม่เว้นแม้แต่ "พืช" หรือ "ต้นไม้"
"ไผ่" ก็เป็นหนึ่งในบรรดาพืชของไทยที่ร่อยหรอ!!!
กล่าวสำหรับ "ไผ่" จัดอยู่ในสกุล "วงศ์หญ้า" มีอยู่หลายชนิดทั่วโลกพบประมาณ 1,500 ชนิด มีถิ่นกำเนิดและกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติอย่างกว้างขวางครอบคลุมเกือบทุกส่วน ทั่วโลก ยกเว้นในยุโรป ส่วนในเมืองไทยพบ "ไผ่ท้องถิ่น" กว่า 17 สกุล 72 ชนิด จัดเป็นพืชบนดินที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว บางชนิดโตได้ถึงวันละ 2 ฟุตต่อวัน จัดเป็นหญ้าที่มีอายุยืนยาวที่สุด บางชนิดมีอายุยืนยาวเป็นร้อยปี มีคุณค่าสารพัดประโยชน์
"ไผ่มีคุณสมบัติพิเศษเติบโตเร็ว ปลูก 3-5 ปีก็นำมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว แตกต่างจากไม้เนื้อแข็งทั่วๆไปที่ต้องใช้เวลา 20-30 ปีขึ้นไป นอกจากนี้เมื่อเทียบพื้นที่เท่าๆกัน ไผ่ยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และผลิตออกซิเจนได้มากกว่าต้นไม้ทั่วๆไปถึง 35%" สภลท์ บุญเสริมสุข นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวถึงประโยชน์ของ "ไผ่"
คุณค่าของ "ไผ่" ยังไม่หมดแค่นี้ โดย "สภลท์" บอกว่า "กอไผ่" ที่ถูกตัดจะมีลำต้นขึ้นมาทดแทนอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องปลูกใหม่ "รากไผ่" ยังช่วยยึดดิน ช่วยลดการกัดเซาะและพังทลายของหน้าดิน ดินรอบบริเวณที่ไผ่ขึ้นอยู่จะสะสมเศษซากและย่อยสลายของใบไผ่เรียกว่า "ดินขุยไผ่" ซึ่งเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง
นอกจากนี้ "ไผ่" ยังสร้าง "นวัตกรรมใหม่" ได้มากมาย ทั้งการเป็นส่วนประกอบของเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ "หน่อไม้" ที่ได้จากไผ่ยังเป็นอาหารจานโปรดของหลายๆครอบครัวเลยทีเดียว ซึ่งหน่อไม้เป็นอาหารที่ให้เส้นใยสูง ลดการเกิด "มะเร็งลำไส้ใหญ่" ป้องกันอาการท้องผูก ขับปัสสาวะ แก้ไอ บำรุงกำลังแก้อาการร้อนต่างๆได้อย่างดี ฯลฯ
ที่เห็นชัดๆ คือ การใช้ทำ "กระบอกข้าวหลาม"
ส่วน "ธนา ทิพย์เจริญ" ผู้ประกอบการธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ กล่าวบนเวทีสัมมนาหัวข้อ "ไม้ไผ่เพื่อชีวิต เพื่อเศรษฐกิจ เพื่อสังคม" ว่า ความต้องการ "ไผ่" ในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ยังมีอยู่มาก แต่ปัจจุบันปริมาณยังไม่เพียงพอในการป้อนเข้าโรงงานผลิต เพราะพื้นที่ปลูกป่าไผ่ในเมืองไทยยังมีอยู่น้อยมาก
"ที่สำคัญลูกค้าส่วนใหญ่ที่สั่งออเดอร์เฟอร์นิเจอร์ ล้วนแล้วแต่เป็นการสั่งจากต่างประเทศ หรือสั่งซื้อจากชาวต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทย แสดงให้เห็นว่าคนไทยมักคิดว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไผ่มักไม่คงทน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงไผ่มีเนื้อไม้ที่มีลักษณะเฉพาะ ลายเนื้อไม้สวยงาม ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไผ่ ถ้ามีกรรมวิธีการผลิตที่ถูกต้องและมีการดูแลรักษาที่ดีแล้วจะมีอายุการใช้ งานที่ยืนยาว" ธนา กล่าว
"ธนา" บอกด้วยว่า ในต่างประเทศองค์ความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับไผ่พัฒนาไปไกลแล้ว ไม่ว่าจะเป็น "ญี่ปุ่น" ซึ่งทำกันมานานมาก รวมถึงไต้หวัน จีน เวียดนาม เป็นต้น ซึ่งมีการพัฒนาเครื่องจักร และวิจัยเรื่องไผ่อย่างจริงจัง ขณะที่เมืองไทยกลับใส่ใจเรื่องนี้น้อยมาก
ข้อมูลของ "ธนา" สอดรับกับตัวเลขของ "สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ" หรือ สภพ. ที่บ่งชี้ให้เห็นว่าคุณค่าของ "ไผ่" ได้ถูกสังคมไทย "มองข้าม" เพราะแม้จะมีประโยชน์อยู่มาก แต่ในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกไผ่น้อยมาก โดยข้อมูลจาก สภพ.ระบุว่า พื้นที่ไผ่ในแหล่งธรรมชาติ และพื้นที่ "ป่าไผ่" ในเมืองไทย มีอยู่ 939,687.5 ไร่ หรือ 1,503.5 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 0.29% ของพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการ
ในทางกลับกันจากรายงานการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ของ สภพ. พบว่า มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ของไทยช่วงปี 2550-2553 อยู่ที่ 441 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้าสูงถึง 736 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าไทยยังขาดดุลการค้าอยู่ ขณะเดียวกันด้วยจำนวนไผ่ที่มีอยู่ยังทำให้เมืองไทย "เสียโอกาส" ด้วย เพราะความต้องการผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ในตลาดทั้งภายในและนอกประเทศยังมีอยู่ มาก
ข้อมูลล่าสุดของ สภพ.ยังพบว่า ไทยต้องนำเข้าไม้ไผ่จากประเทศเพื่อนบ้านรอบทิศทาง ทั้งกัมพูชา พม่า ลาว และเวียดนาม ประเทศละ/ปีละประมาณ 1 ล้านลำ เป็นเงินประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี และสถานการณ์ล่าสุดในปี 2548 ปริมาณการนำเข้าไผ่จากแต่ละประเทศเพื่อนบ้านก็เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าอีก 10%
เมื่อความต้องการใช้ไผ่แต่ละปีมีปริมาณที่สูงมาก ทำให้เมืองไทยจำเป็นต้องขยายพื้นที่ปลูกไผ่มากขึ้น เช่นที่ "ชัยภูมิ" มีโครงการนำร่องปลูกไผ่ในพื้นที่เป้าหมาย 5,000 ไร่ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกไผ่เพื่อใช้เป็นพืชเศรษฐกิจ แก้ไขความยากจนในครัวเรือน โดย "กรมป่าไม้" สนับสนุนในด้านวิชาการการเพาะปลูกไผ่และด้านการตลาด
ทั้งนี้ การที่หน่วยงานภาครัฐได้ขยับมาให้ความสำคัญกับ "ไผ่" ด้วยการสนับสนุนด้านวิชาการที่ถูกต้อง พร้อมทั้งส่งเสริมอย่างถูกวิธี เพื่อดึงศักยภาพของไผ่ที่มีอยู่มากมายมาใช้ประโยชน์ ก็เชื่อว่าในอนาคตไผ่จะกลายเป็น "พืชเศรษฐกิจ" ที่สร้างประโยชน์ และโกยเงินเข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาล
อย่างไรก็ดี โครงการนี้ในด้านหนึ่งถือเป็นการสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรม ราชินีนาถ ในการส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินชีวิตตามแบบ "เศรษฐกิจพอเพียง" ตามกระแสพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพื้นที่นำร่องนี้คาดว่าจะสามารถผลิตไผ่ได้เพิ่มอีกปีละ 1 แสนลำ
ขณะที่อีกมุมหนึ่งการที่เมืองไทยต้องส่งเสริมปลูกไผ่ ก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า "เมืองไทยเริ่มขาดแคลนไผ่" ถึงขั้นคนไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาผลิต "ข้าวหลาม"
ว่ากันอย่างนี้หลายคนอาจมองเป็นเรื่องตลกขำกลิ้ง แต่ถ้าพินิจรายละเอียดกันจริงๆมันช่างเป็น "ตลกร้าย" สิ้นดี!!!
สารพัดประโยชน์จาก "ไม้ไผ่
อนุรักษ์ธรรมชาติ : ป้องกันการพังทลายของดินตามริมฝั่ง , ช่วยเป็นแนวป้องกันลมพายุ , ชะลอความเร็วของกระแสน้ำป่าเมื่อฤดูน้ำหลากกันภาวะน้ำท่วมฉับพลัน , ให้ความร่มรื่น , ใช้ประดับสวน จัดแต่งเป็นมุมพักผ่อนหย่อนใจในบ้านเรือน
ประโยชน์จากลักษณะทางฟิสิกส์ : จากความแข็งแรง ความเหนียว การยืดหด ความโค้งงอ และการสปริงตัว เราสามารถนำไผ่มาใช้เป็นวัสดุเสริมในงานคอนกรีต และเป็นส่วนต่างๆของการสร้างที่อยู่อาศัยแบบประหยัดได้เป็นอย่างดี
ประโยชน์จากลักษณะทางเคมี : เนื้อไผ่ใช้บดเป็นเยื่อกระดาษ , เส้นไยใช้ทำไหมเทียม , เนื้อไผ่บางชนิดสามารถสกัดทำยารักษาโรคได้ , ใช้ในงานอุตสาหกรรมนานาชนิด
ประโยชน์ด้านผลิตภัณฑ์หัตถกรรม-อุตสาหกรรม : สามารถนำมาใช้ผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานได้มากมาย เช่น กระจาด กระบุง กระด้ง กระเช้าผลไม้ กระเป๋าถือสตรี เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เก้าอี้ โต๊ะ ชั้นวางหนังสือ ตะเกียบ กรอบรูป ไม้บรรทัด คันธนู สุ่มไก่ เป็นต้น
ประโยชน์ทางด้านการบริโภค : "หน่อไม้ไผ่" นำมาทำเป็นอาหาร เช่น ซุป แกง ต้ม หรือนำมาดองจิ้มน้ำพริก เป็นต้น
อธิพงศ์ ลอยชื่น
SCOOP@NAEWNA.COM วันที่ 12/5/2011