เรื่องที่ไม่รู้มาก่อนเลยก็คือ ข้าวมีหลากหลายสายพันธุ์มาก
ในช่วงที่คิดจะปลูกข้าวกินเองนั้น ก็คิดเพียงว่าจะปลูกข้าวหอมมะลิ เพราะได้ยินชื่อเสียงมานาน
ต่อมาถึงได้รู้ว่า ข้าวหอมมะลิเขาปลูกกันปีละครั้งเท่านั้น เป็นข้าวนาปี จะเริ่มปลูกันก็เดือนมิถุนายน
เป็นต้นไป แล้วก็มารู้ว่ามีคำขวัญปลูกวันแม่เกี่ยววันพ่อ ซึ่งก็ยัง งงๆ และยังไม่เข้าใจมาจนทุกวันนี้
รวมทั้งเรื่องข้าวไวแสง และ ไม่ไวแสง แต่ก็คงไม่เป็นไร ค่อยเรียนรู้กันไป
ระหว่างตัดสินใจ ว่าจะเลือกปลูกข้าวนาปีไว้กิน เพราะจะลองปลูกข้าวหอมมะลิ
ก็เข้าไปปรึกษาชาวบ้านที่จะช่วยเราปลูกอีกครั้ง ถามว่าเขาปลูกข้าวพันธุ์อะไร เพราะเห็นปลูกปีละตั้ง 2-3 ครั้ง
เขาว่าเป็นข้าวพิษณุโลก เป็นข้าวนาปรัง แต่เขาไม่แนะนำว่าให้ปลูกกินเอง เพราะว่าข้าวมันแข็ง เป็นข้าวแป้ง
ทำเพื่อส่งขายให้โรงสี เพื่อการส่งออกอย่างเดียวเท่านั้น เป็นเรื่องใหม่ของผมเลยละครับ
ยิ่งทำให้สงสัยมากขึ้นอีก แต่ก็ไม่กล้าถามว่าแล้วเขากินข้าวอะไร ในเมื่อปลูกข้าวไว้ขายแต่เพียงอย่างเดียว
แต่เดาว่าเขาคงซื้อกินแน่ๆ เพื่อนบางคนก็บอกว่าข้าวที่คนกรุงเทพกินนั้น ส่วนใหญ่มาจากทางอีสาน
ส่วนข้าวทางภาคกลางนั้นเขาส่งขายทำเป็นแป้งเกือบทั้งหมด ไม่ก็ส่งไปประเทศอื่นที่มีความต้องการ แล้วยังบอก
ด้วยว่าบางบ้านทางอีสานแม้จะปลูกไว้กินเอง แต่ก็มักกินข้าวขาวกัน ไม่ได้กินข้าวกล้องอย่างคนกรุงเทพ อันนี้
ก็ไม่รู้เหมือนกันครับ เพราะไม่ได้เห็นด้วยตัวเอง
ต่อมาได้ยินชื่อข้าวปทุมเทพ พอได้ยินที่มาที่ไป จึงเลือกเอาข้าวพันธุ์นี้แหละในการเริ่มต้น เป็นข้าวนาปรัง
แล้วพันธุ์ข้าวจะไปเอาจากที่ไหนละเนี่ย ทั้งหอมปทุมหรือข้าวหอมมะลิ ในเมื่อแถวนี้เขาไม่นิยมปลูกกัน ชาวบ้านที่รู้
เขาก็ว่าให้ไปเอาที่สุรินทร์โนน่ โห....ถ้าใกล้ๆ ก็คงจะไปหรอกนะครับ
กองเชียร์ก็ทำหน้าที่ทันที เพื่อนเขาจัดการให้เสร็จ ได้ข้าวหอมมะลิ มา 1 กระสอบ เขาจัดการโดยเพียงได้ยิน
ว่าเราจะปลูกข้าวหอมมะลิ โดยไม่ทันรู้ว่าเราเปลี่ยนใจปลูกข้าวปทุมเทพเสียแล้ว ส่วนข้าวปทุมเทพก็อาศัยเพื่อนอีกเหมือนกัน
ขับรถไปเอาที่บ้านเพื่อนที่มีข้าวปทุมเทพ ขอแบ่งมา 1 กระสอบ 625 บาท กก.ละ 25 กระสอบหนึ่งก็ 25 กก.
แล้วก็ตัดสินใจเลือกทำนาดำ ตามที่ใฝ่ฝัน แต่ต้องเลือกเป็นจ้างรถดำนา ไร่ละ 1,000 บาท 2 ไร่ก็ 2,000 บาท
คิวยาวมาก นัดได้วันที่ 15 เมษายน โนน่เลยครับ ฝ่ากพันธุ์ข้าวไปให้เขาเตรียมกล้า 20 กก. ไร่ละ 10 กก.คงพอ
เก็บไว้ 5 กก. ก็ยังไม่รู้ว่าจะเก็บไว้ทำไม ถ้าปลูกไว้ในกระถางหลังบ้านที่กรุงเทพคงจะดีเหมือนกันนะครับ
ตั้งใจให้เขาดำห่างๆ สัก 25 ซม. ฟังมาทั้งนั้นครับ แล้วกะเอามั่วๆไปยังงั้น ชาวบ้านเขาฟังแผนการของเราก็ขำๆ
แต่ก็ปล่อยให้เราทำตามใจเราครับ
พยายามทำในส่วนที่เราทำเองได้ เช่น น้ำหมักชีวภาพ ก็ได้เรียนรู้มาจากที่นี่แหละครับ ชอบมากที่คุณ tomy แนะนำ
ให้ใส่อะไรก็ได้ สัดส่วนเท่าไรก็ได้ เหม็นก็เติมน้ำตาล ง่ายดีครับ ทำล่วงหน้าเตรียมไว้สำหรับหมักฟาง ส่งไปให้ชาวบ้าน
2 แกลลอน ๆ ละ 5 ลิตร กะว่าใช้ไร่ละ 5 ลิตร เขายังถามผมเลยว่าซื้อมาจากที่ไหน เราก็ยังไม่กล้าบอกว่าทำเอง
แต่ให้เขานำไปใส่ในไร่ตอนเกี่ยวข้าวแล้ว
ทุกอย่างพร้อม วันที่ชาวบ้านเกี่ยวข้าวในแปลงที่ปลูกไว้ก่อน จำได้ว่าเป็นวันที่ 18 มีนาคม 2552 เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวข้าวครับ
พอวันเสาร์เขาก็เรียกเราไปดูให้เห็นกับตา ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอกครับ ก็เรื่องหมักฟางนั่นแหละ พอไปถึงก็ถึงได้รู้ว่า
นาที่เขาเกี่ยวเสร็จแล้วมันเป็นอย่างนี้นี่เอง น้ำท่วมเต็มไปหมดเลยครับ เพราะช่วงนั้นมีฝนตกพอดี ก็คงจะทำให้เราพร้อม
สำหรับการหมักฟางนะครับ นับวันแล้วก็ร่วม 1 เดือนสำหรับการหมักฟาง นานพอแน่ๆ แล้วยังมีน้ำหมักชีวภาพอีกด้วย
ที่เหลือสำหรับผมก็เพียงตั้งตารอครับ ส่วนชาวบ้านก็คงต้องนำไอ้ขลุบมาทำงานส่วนที่เหลือ ตรงนี้ก็ต้องบอกตามตรงครับ
ผมไม่รู้เรื่องเลยว่าต้องทำอย่างไร ระหว่าง ตีดิน ย่ำฟาง ทำเทือก รอวันที่ 15 เมษายน เพียงอย่างเดียวด้วยใจระทึก
