โปรเจ็กต์ต่อไป
... ระบบพ่นยากึ่งอัตโนมัติ...ในการบริหารจัดการสวน ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผมพบปัญหาสำคัญคือ ปัญหาแรงงาน
ส่งผลให้รอบการฉีดพ่นยา ไม่สามารถทำได้ตามกำหนดที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันผมเองก็ไม่มีเงินทองมากพอจะจ้างหรือดึงดูดให้ใครอยู่กับเราตลอดเวลา
การจ้างแรงงานในปัจจุบันจึงเป็น การจ้างแบบรายวัน มีงานก็จ้าง โดยผมพยายามสร้างงานให้มีสม่ำเสมอ เฉลี่ย 4 วันต่อสัปดาห์
ซึ่งที่ผ่านมา ก็เปลี่ยนคนงานไปหลายชุด ปัญหาหลักๆ ก็จากตัวคนงานเอง เบื่อบ้าง ไม่รักษาคำสัญญาบ้าง
ผมจึงคิดทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ สำหรับแปลงมะกรูด ที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่งั้นใบก็ไม่สวยพอจะขายได้ในราคาสูง
คือ การติดตั้งระบบพ่นยากึ่งอัตโนมัติ
ใช้คำว่า "กึ่ง" เพราะ มันไม่ได้จำเป็นต้องอัตโนมัติ แต่มันก็ลดภาระงานได้เยอะ
โดยกระบวนการคือ
1. ติดตั้งหัวพ่นหมอก ตามแนวร่องแปลงมะกรูด ระยะห่าง 2 เมตร โดยติดตั้งแบบสลับฟันปลา และหัวพ่นขึ้นประมาณ 20 องศา ความสูงของหัวพ่นคือ ความสูงของต้นมะกรูด ซึ่งระยะแรกต้องติดตั้งที่ 80 ซม. ระยะยาวที่ 100 ซม.
2. ติดตั้งปั้มสูบยา ที่อัดแรงดันได้ 2-3 บาร์ แบ่งโซนตามความสามารถของปั้ม
การทำงานคือ
1. ผสมยาลงถัง
2. เปิดเครื่องสูบยา ฉีดพ่น ตามกำหนดเวลา โดยเพิ่มอัตราปริมาณของน้ำยา ให้สูงกว่าปกติที่ใช้ ตามการคำนวณ เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปในท่อ (น้ำยาที่ค้างท่อ) โดยคำนวณคร่าวๆ ในสภาพแวดล้อมของผม ทุกๆ 60 เมตร เสียน้ำยา 10 ลิตร
3. เมื่อเปิดจนครบทุกโซน ให้ทิ้งระยะไว้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง แล้วล้างระบบ ด้วยการไล่น้ำแต่ละโซน ตามปริมาณที่ชดเชย คูณสามเท่า เช่น ชดเชย 10 ลิตร ก็พ่นน้ำเปล่าล้าง 30 ลิตร เป็นต้น
หลักคิดประมาณนี้
ปัญหาหน้างานที่คาดว่าจะเจอคือ
พื้นที่ครอบคลุมของละอองหมอก ตรงนี้ผมคาดหมายไว้ที่ 80% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งระยะยาวจะเห็นผลเองว่าตรงไหนได้ไม่ได้ ก็ค่อยเพิ่มหัวพ่น ในจุดทีเป็นปัญหา
ดังนั้น ปั้มที่เลือกจึงต้องเลือกสเปกที่เผื่อๆ ไว้เสริมหัวพ่นหมอก ด้วย
นอกจากใช้พ่นยาแล้ว ยังใช้พ่นสารเสริม สารบำรุง และพ่นเป็นละอองน้ำ ลดอุณหภูมิของแปลงได้อีกด้วย
การลงทุนค่อนข้างสูงก็จริง คือ
1. ระบบปั้มพ่นหมอก ประมาณ 6 พันบาท
2. หัวพ่นหมอก ชุดละ 8 บาท (ของ SuperProduct) อีก 750 หัว เท่ากับ 6000 บาท
3. สายไมโคร PE ขนาด 4/7 อีก 25 ม้วน ประมาณ 5000 บาท
4. สาย PE ขนาด 16mm 1 ม้วน ประมาณ 550 บาท
5. ชุดข้อต่อต่างๆ อีกประมาณ 3000 บาท
ประมาณเท่ากับ 20550 บาท ขึ้นไป
คิดเป็นค่าแรงคนงานได้ 20550/300 บาท เท่ากับ 68 วัน หรือพ่นยาได้ 100 ครั้ง หากพ่นทุกๆ สองสัปดาห์ ก็จะพ่นได้ 2 ปี
ตัวเลขแบบนี้ เท่ากับคืนทุน 2 ปี ก็น่าลงทุน
แต่ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ตัดปัญหาคนงานขาดหาย ไม่มาทำงาน ได้ 100%
และการทำงานฉีดพ่นสามารถทำได้ทุกเวลา ไม่ต้องเสี่ยงเดินลงแปลง เช่น จะพ่นชีวภาช่วงพระอาทิตย์ตก ก็พ่นได้เลย ต่างกับแต่ก่อน ต้องพ่นช่วง 4 โมง เพื่อให้พ่นเสร็จไม่มืดเกินไป
----------------------------------------
มาดูหน้าตาเจ้าระบบเครื่องพ่นกันครับ

ชุดเชื่อมต่อสาย PE สำหรับแบ่งโซนพ่นหมอก แต่ละโซนจะพ่นได้กี่หัว แรงดันเท่าไร ต้องคำนวณจากปั้มหลักที่ใช้ โดยการออกแบบนี้สามารถต่อหัวพ่นเพิ่มโซนได้ไม่จำกัด ปลายท่อต่อด้วยวาวล์น้ำ สำหรับเปิดปิด สามารถบริหารจัดการเปิดปิดได้ด้วยตนเอง
หรือหากต้องการอัตโนมัติ ก็เพิ่มวาลว์ไฟฟ้า (แต่ก็เพิ่มต้นทุน)
ปลายอีกด้านหนึ่งที่ใกล้ขาเหล็กฉาก มีไว้สำหรับติดตั้งเกจวัดแรงดัน เพื่อตรวจสอบแรงดันให้ได้ตามต้องการ ประมาณ 2-4 บาร์
หากแรงดันต่ำกว่าปกติ แสดงว่าเกิดการอุดตันที่ไส้กรอง หรือปั้มมีปัญหา

ระบบกรองแบบง่ายๆ 2 ชุด เพื่อป้องกันการอุดตัน และเพิ่มการไหลของน้ำ โดยการออกแบบให้ลดขนาดท่อลงจากขนาดที่ปั้มจ่าย เพื่อลดต้นทุนอุปกรณ์ทั้งหมด และรีดแรงดันให้สูงขึ้น เป็นลำดับ จนถึงปลายทางที่เป็นหัวพ่นหมอก

ด้านดูด ติดตั้งวาวล์เพื่อเติมน้ำ ก่อนการใช้งาน ลดปัญหาการมีอากาศในระบบ
ส่วนที่ปลายท่อ ติดตั้งฟุตวาวล์ป้องกันอีกชั้นหนึ่ง
ระหว่างท่อมีข้อต่อสำหรับในกรณีต้องขยับหรือเปลี่ยนถัง สามารถหมุนท่อดูดออกเพื่อการบำรุงรักษาได้

ถ่ายเซฟฟี่เสียหน่อย 555
