หน้า: [1] 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 ... 192   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง  (อ่าน 1333343 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ไผ่หวาน
เกษตรกรมือใหม่
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 5510

ยินดีให้ข้อมูลด้วยความจริงจังและจริงใจ


« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 10, 2009, 12:30:30 AM »

      ผมทำสวนแบบไร่นาสวนผสม   แต่ปลูกไผ่มากหน่อยครับ  อยู่ที่  91  หมู่ 4  ต.แม่จั๊วะ  อ.เด่นชัย  จ.แพร่  เบอร์โทร 083-2663096  087-8387334  ทำเกษตรในที่ดินของตนเอง  18 ไร่   และเช่าที่ดินติดกันอีก  24  ไร่    ทำเกษตรมาได้   15 ปีกว่าแล้ว  ช่วงนี้ก็เริ่มมีรายได้จากการขายผลผลิตที่วัน มากบ้างน้อยบ้างครับ  ขอร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับสมาชิกท่านอื่นๆด้วยครับ   งานส่วนใหญ่เน้นพัฒนาสายพันธุ์ไผ่ที่หวาน (หมายถึงหน่อไผ่ที่ชิมตอนดิบๆแล้วหวานไม่มีรสขม)   การปลูกไผ่ทดสอบการออกหน่อของแต่ละสายพันธุ์  การปลูกพืชผสมผสานชนิดต่างๆ  

ประสบการณ์การปลูกไผ่บงหวาน

          ผู้เขียนได้ปลูกไผ่บงหวานมาตั้งแต่ปี  พ.ศ.  2544  โดยได้เช่าพื้นที่ใน อ.เด่นชัย   ทำเกษตรผสมผสาน โดยเริ่มที่พื้นที่  5  ไร่ก่อน และพืชหนึ่งในนั้นก็คือไผ่บงหวาน   ผู้เขียนได้ทดลองปลูก ในพื้นที่  1  ไร่  โดยใช้พันธุ์ไผ่จำนวน  200  ต้น   โดยได้ซื้อพันธุ์มาจาก  อ.สันป่าตอง  จ.เชียงใหม่แต่ก็ไม่ทราบอายุของไผ่บงหวานว่าจะให้หน่อไปได้อีกกี่ปี   โดยจุดประสงค์ของการปลูกครั้งแรกเพื่อใช้หน่อไว้เป็นอาหาร   ไม้ไว้ทำค้างผักต่างๆและค้างผลไม้ที่ปลูกอยู่ในที่ดินที่เช่าอยู่  ถึงตอนเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่ปลูก    ปรากฏว่าหน่อไผ่บงหวานที่ขุดไปทดลองขายที่กิโลกรัมละ  50  บาทในตลาดใกล้ๆบ้าน    มีลูกค้าสนใจซื้อไปรับประทานเยอะจนไม่พอขายก็เลยต้องการที่จะปลูกเพิ่ม    และได้ทราบข้อมูลจากลูกค้าบางคนว่าที่จังหวัดเลยก็มีสายพันธุ์ลักษณะเช่นนี้อยู่   จึงเดินทางไปที่จังหวัดเลย   และได้ซื้อพันธุ์ไผ่บงหวานที่เพาะจากเมล็ดมาจากเขตอำเภอภูเรือมาส่วนหนึ่ง   เมื่อนำมาปลูกแล้วก็ยังมีพื้นที่เหลือ   จึงกลับไปหาซื้ออีกครั้ง   แต่เที่ยวนี้ไปได้เมล็ดไผ่บงหวานที่กำลังตายขุ๋ยจากบ้านชาวบ้านในเขตอำเภอภูเรือจึงนำกลับมาเพาะที่สวน   และนำลงไปปลูกจนเต็มพื้นที่ทั้งหมด  20  ไร่นอกจากนี้ยังมีญาติพี่น้องของภรรยาเริ่มปลูกตาม  รวมมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ  33  ไร่  ในสวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้งพบว่าต้นที่ปลูกจากเมล็ดมีหลายลักษณะ กระจายตัวอยู่   พบต้นไผ่บงหวานที่มีลักษณะรสชาติขมประมาณ 0.5%  ทางสวนได้ทำการขุดออกทิ้งทั้งหมด  นอกจากนี้ยังพบต้นที่มีลักษณะทั้งหน่อเล็กและหน่อใหญ่ปะปนกันอยู่   หลังจากปลูกได้  3  ปี  การเก็บหน่อจำหน่ายจากต้นที่เพาะเมล็ดพบว่าผลผลิตต่ำมากเพราะมีต้นที่ให้หน่อที่เล็กมากเป็นส่วนใหญ่ พบต้นที่ให้หน่อใหญ่ราวๆ  0.5 %  ซึ่งทั้งๆที่ต้นแม่ที่ตายขุ๋ยก็ต้นใหญ่และให้หน่อใหญ่หน่อละไม่ต่ำกว่า  500กรัม  จึงสรุปได้ว่าไผ่บงหวานที่เพาะเมล็ดแล้วนำมาปลูกใหม่มีการกลายพันธุ์ที่กระจายตัวสูงมากและได้ลักษณะที่ด้อยกว่าต้นแม่ถึง  99  % ผู้เขียนทำงานด้านปรับปรุงพันธุ์ก่อนจึงพอเข้าใจ  และตั้งใจว่าจะต้องคัดสายพันธุ์ที่ให้ลักษณะที่ดีและทราบอายุ  จึงจะทำให้ผู้เขียนและญาติๆพี่น้องของภรรยาได้พันธุ์ไผ่บงหวานที่ดีและทราบอายุของไผ่บงหวานที่ปลูก  
         จากการดูต้นไผ่บงหวานของ จ.เลย ที่แสดงลักษณะที่ดี พบว่าไผ่บงหวานของ  จ.เลย  จะต้นใหญ่กว่า  ให้หน่อที่ใหญ่กว่าพันธุ์ที่นำมาจาก จ.เชียงใหม่ จึงตั้งชื่อไผ่บงหวานที่คัดเลือกต้นใหม่จากการเพาะเมล็ดว่า  “ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง”  ลักษณะพันธุ์คือ   เป็นไผ่ขนาดกลาง   ลำต้นโตเต็มที่สูงประมาณ    7-12   เมตรเนื้อไม้ตันไม่มีรูใหญ่      หน่อเมื่อเก็บจากต้นที่โตเต็มที่จะมีขนาด    2-3   หน่อต่อกิโลกรัม   ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งที่ปลูกมีลักษณะเด่นอยู่ที่หน่อไผ่มีรสชาติไม่ขมมีลักษณะหวานกรอบ  ไม่มีเส้นใย  เนื้อของหน่อละเอียดมีกลิ่นหอมเมื่อปรุงสุก กลิ่นคล้ายๆข้าวโพดหวาน    หน่อ สามารถกัดชิมดิบๆแล้วไม่ขมติดลิ้นเหมือนไผ่พันธุ์อื่นๆ     ทำให้นำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูโดยหั่นสดๆแล้วทำอาหารได้เลยไม่ต้องต้มน้ำทิ้งก่อน   อาทิ     ลวกหรือย่างจิ้มน้ำพริก    ผัดน้ำมันหอย  หน่อบงหวานผัดกุ้ง   ชุบแป้งทอด  ร่วมกับผักสลัด  ทำแกงเขียวหวาน   ต้มจืดกระดูกหมู   หรือจะแกงเหมือนหน่อไผ่พันธุ์อื่นๆ    แต่มีเทคนิคอยู่ที่    ต้องเตรียมตั้งเครื่องปรุงให้น้ำเดือดไปก่อน   แล้วค่อยใส่หน่อไผ่บงหวานทีหลัง   ทิ้งให้น้ำเดือดต่อไม่เกิน  5 -7   นาที  ก็นำไปรับประทานได้เลยไม่ต้องต้มน้ำทิ้ง   หรือต้มนานๆเหมือนหน่อไผ่พันธุ์อื่นๆ   จากข้อมูลที่ลูกค้านำไปรับประทาน  ปรากฏว่าคนที่เป็นโรคปวดข้อทานหน่อไผ่อื่นๆที่ขมไม่ได้   พอรับประทานหน่อไผ่บงหวานแล้วไม่ปวดข้อ   ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ   ไผ่บงหวานขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและขุดแยกเหง้า   โดยทั่วไปแล้วไผ่บงหวานชอบดินร่วนปนทราย   แต่ถ้าหากไม่ใช่ดินร่วนปนทราย   ก็สามารถปลูกได้โดยการปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ ลักษณะเด่นของไผ่บงหวานเพชรผึ้ง
            หน่อที่เกิดจากต้นที่โตเต็มที่แล้วมีน้ำหนัก   500  กรัมขึ้นไป   หน่อมีลักษณะอวบอ้วน  เปลือกของหน่อมีลายเขียวสลับเขียวอ่อนและชมพู   ออกหน่อดกและออกได้เรื่อยๆตลอดทั้งปีถ้ามีระบบการจัดการน้ำที่ดี   ลำต้นโตเต็มที่สูงประมาณ  7-12  เมตร  เส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นประมาณ  2-3  นิ้วมีรสชาติที่ดี  หวานนิดๆ  หอม กรอบ  คล้ายๆยอดมะพร้าว หรือจะเรียกว่าหน่อยอดมะพร้าวก็ได้  เพราะรสชาติไม่เหมือนหน่อไม้เลย   จากการตรวจทางห้องปฏิบัติกลางประเทศไทยผลการตรวจไม่พบสารไซยาไนด์   และจากการที่ผู้เขียนทดลองต้มหน่อดูพบว่าน้ำที่ต้มเป็นน้ำใสๆ  ไม่มีสีเหลือง   มีหน่อไม้ออกวางขายในท้องตลาดน้อย  ทำให้ได้ราคาที่สูงกว่าหน่อไม้อื่นๆ  โดยที่เกษตรกรที่ปลูกสามารถตั้งราคาเองได้
ลักษณะด้อยของไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง
        เนื่องจากเป็นไผ่ที่ออกหน่อดกจึงทำให้แขนงก็ออกดกไปด้วย    จึงต้องหมั่นแต่งแขนงเดือนละครั้ง  แต่ต้นไหนที่ตัดแขนงไปแล้วก็ไม่ต้องตัดซ้ำ  นอกจากนี้ยังเป็นไผ่ที่มีใบมาก   ทำให้ลำต้นโน้มเอียงในฤดูที่ลมแรง  ต้องคอยนำเชือกมัดรอบลำต้นเพื่อไม่ให้โน้มเอนลง  หรือตัดยอดที่ล้มทิ้งบ้างเพื่อให้ตั้งขึ้นได้   ทำให้หลายๆคนที่ทำไผ่บงหวานแล้วท้อต่อความรก  ไม่สามารถทำต่อได้  จึงไม่ค่อยพบสวนไผ่บงหวานแพร่หลายมากนักในแต่ละจังหวัด  
การขยายพันธุ์
            ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งขยายพันธุ์ด้วยการเพาะจากเมล็ดใช้เวลา 3  ปีจึงจะเก็บหน่อได้แต่ก็จะพบว่ามีการกลายพันธุ์ไปได้หลายลักษณะ อีกวิธีคือ การขุดแยกเหง้า  แต่การขุดแยกเหง้าจากต้นที่เพาะจากเมล็ดและทราบอายุ   ที่ได้คัดเลือกสายพันธุ์แล้วจะเป็นวิธีที่ให้ผลผลิตเร็ว  ใช้เวลา  6-8  เดือน  ก็สามารถที่จะเก็บหน่อได้  ไผ่บงหวานไม่นิยมตอนและปักชำข้อ  เพราะไม่ค่อยติด  และโตช้ากว่าการปลูกด้วยเหง้า   การขุดแยกเหง้าจะทำได้หลังจากเกษตรกรปลูกไผ่บงหวานผ่านไปได้  1  ปี  จะเริ่มทำการขุดแยกเหง้าได้ดีที่สุดในเดือน  มีนาคม   และเดือนต่อๆไปแต่ต้องก่อนที่หน่อใหม่จะโผล่ออกมาเพราะไผ่บงหวานมีการสะสมอาหารไว้มาก  จะทำให้การขุดแยกเหง้ามีการตายน้อยมากถ้าเกษตรกรขุดเพื่อขยายพันธุ์ปลูกเพิ่มเองก็ให้ขุดเหง้าละ  2-3  ต้นจะทำให้ติดดีและเก็บหน่อจำหน่ายได้ไว  แต่ถ้าขุดเหง้าเพื่อใส่ถุงจำหน่ายก็ขุดเพียงต้นเดียวให้ติดราก  แล้วนำใส่ถุงดำขนาด  5 คูณ  10  นิ้ว  วัสดุที่ใช้ควรจะเป็นขี้เถ้าแกลบเพราะระบายน้ำดีและไม่มีเชื้อราต่างๆ  ทำให้ต้นไผ่ที่ขุดมาใส่ตายน้อยมาก
การเตรียมพื้นที่ปลูก
          ให้ไถดะในที่ดินเพื่อกำจัดวัชพืชก่อนจากนั้นก็ไถแปร     ถ้าเป็นที่นาให้ยกร่องเพื่อระบายน้ำในช่วงฝนตกชุก  โดยยกร่องห่างกันประมาณ   6-7  เมตร  ปลูกที่ริมร่องน้ำห่างจากร่องน้ำราวๆ  1  เมตร  แปลงหนึ่งปลูกได้  2  แถว   ถ้าเป็นที่สวนหรือที่สภาพไร่มีการระบายน้ำดี  ก็ไม่ต้องยกร่อง  ควรจะปลูกในเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคมจะดีที่สุด   เพราะจะเก็บหน่อครั้งแรกหลังจากปลูก  ใช้เวลา  8  เดือนก็ตรงกับเดือนมกราคมของปีถัดไป จะทำให้ขายหน่อได้ราคาดี   แต่ถ้าเป็นที่นาที่กังวลต่อการขังของน้ำที่โคนไผ่  ก็ให้เลี่ยงไปปลูกในเดือนตุลาคม   แต่เกษตรกรต้องให้น้ำในช่วงฤดูแล้ง  พอฤดูฝนมาถึงไผ่ที่ปลูกก็จะทนต่อน้ำฝนที่ตกหนักได้   ไผ่แทบทุกชนิดจะกลัวน้ำขังโคนในช่วงที่ไผ่ยังเล็กอยู่เพราะมีรากน้อยมาก  

การปลูก
            ปลูกในระยะระหว่างต้น  2  เมตร  ระยะระหว่างแถว  4  เมตร โดยพื้นที่  1  ไร่จะใช้ต้นไผ่บงหวาน  200  ต้น  โดยขุดหลุมกว้าง   30  เซนติเมตร  ยาว  30  เซนติเมตร   ลึก   30  เซนติเมตร  จากนั้นคลุกหลุมปลูกด้วยขี้เถ้าแกลบเพื่อเก็บความชื้นจะทำให้ไผ่บงหวานโตเร็วขึ้น  ถ้าจะใช้ปุ๋ยคอกเก่ารองก้นหลุมก็ให้คลุกให้เข้ากันก่อน  ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมประมาณ  1  กำมือ  ถ้าใส่มากกว่านี้ต้นจะเหลืองและโตช้าเพราะรากไผ่ที่เกิดใหม่มีน้อยและยังอ่อนอยู่  เมื่อเตรียมหลุมเสร็จก็นำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ปลูก   โดยให้กลบดินให้เสมอกับดินเดิม   ถ้าปลูกในช่วงฤดูแล้งก็ปลูกลึกกว่าดินเดิมได้เล็กน้อย  หลังจากปลูกให้รดน้ำทันทีให้ชุ่ม  ต่อไปก็ให้รดน้ำทุกๆ  3  วันจนกว่าฝนจะตกชุก    ถ้าเกษตรกรปลูกตรงกับฤดูแล้งควรจะหาฟางข้าว หรือวัสดุคลุมดินอื่นๆคลุมที่โคนไผ่  จะทำให้ต้นไผ่ไม่ขาดน้ำและเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง
การให้น้ำ
             การให้น้ำควรจะให้น้ำด้วยการขังให้ท่วมแปลงแล้วปล่อยให้แห้งภายใน หนึ่งวัน   หรือให้ด้วยระบบสปริงเกอร์ก็ได้  ซึ่งการให้ด้วยระบบสปริงเกอร์    จะช่วยทำให้ได้ไนโตรเจนในอากาศเพิ่ม   ทำให้ไผ่ออกหน่อดกมากขึ้น   ในช่วงนอกฤดู  ควรให้น้ำ   3-4  วัน ต่อครั้งแต่ละครั้งเป็นเวลา  1  ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย  ถ้าตรวจดูแล้วยังไม่ชุ่มก็ต้องเพิ่มเวลาไปอีก เพราะดินแต่ละที่ไม่เหมือนกัน   ถ้าเป็นช่วงฤดูฝน  การให้น้ำควรดูตามสภาพอากาศ   ถ้าฝนตกเรื่อยๆ  ดินชื้นตลอดไม่ต้องให้น้ำ   ถ้าฝนขาดช่วง  สังเกตว่าดินแห้งก็ค่อยให้น้ำ   แต่หากว่าจะทำไผ่บงหวานให้ออกหน่อทั้งปีหรือออกทะวายก็ต้องมีน้ำให้พอใช้   ช่วงที่หน่อไม้อื่นๆยังไม่ออก  ถ้าเกษตรกรทำให้หน่อไม้ไผ่บงหวานออกมาได้ก็จะทำให้ได้ราคาสูง    
การให้ปุ๋ย    
             ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเช่น  มูลวัว   มูลควาย  มูลไก่   มูลหมู   และวัสดุที่เหลือจากภาคเกษตรกรรมเช่นฟางข้าว   ซังข้าวโพด  แกลบ   ขี้เถ้าแกลบ  ขี้เถ้าจากชานอ้อยเผา   กากถั่วเหลือง เป็นต้น  ใส่ที่โคนไผ่กอละ หนึ่งกระสอบปุ๋ย  หรือประมาณ   30  กิโลกรัม  ปีละ  2  ครั้ง  ใส่ช่วงเดือนธันวาคมก่อนให้น้ำและใส่เดือน  พฤษภาคม   นอกจากนี้ทางสวนใช้ปุ๋ยหมักจากกากยาสูบ  ที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานยาสูบและขี้เถ้าจากการเผากากอ้อยที่หีบแล้ว  ที่ทางโรงงานน้ำตาลใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาเตาต้มน้ำเพื่อทำอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายมาเป็นวัสดุใส่โคนไผ่    เพื่อช่วยในการอุ้มน้ำให้มีความชุ่มชื้น  และช่วยทำให้ดินร่วนซุย  ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง สามารถแทงหน่อออกมาง่าย   หน่อขาวอวบ  ไม่แข็งต่างจากที่ไม่มีวัสดุคลุมโคนไผ่  ส่วนการให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ จะให้เสริมในช่วงฤดูแล้งและหน่อไม้มีราคาสูง   เพราะจะทำให้หน่อไม้ไผ่บงหวานมีขนาดหน่อใหญ่และดกขึ้น  เนื่องจากได้สารอาหารครบตามความต้องการ   ควรจะใช้ปุ๋ย  46-0-0  อัตรา  50  กรัมต่อกอ  สลับกับ  8-24-24  อัตรา  50  กรัมต่อกอโดยให้ทุกๆ  15  วัน  แต่พอช่วงฤดูฝน  ความอุดมสมบรูณ์ของดินจะมีมากขึ้นก็ไม่ต้องให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์  
การดูแลจัดการ
            ใน  1  ปีต้องตัดแต่งต้นเก่าแก่ออกปีละ  1  ครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน   โดยนำไปใช้ทำไม้ค้ำยันผลไม้และผักในสวน    หรือจะนำไปใช้เผาถ่านไม้ไผ่ไว้ใช้ในครัวเรือน  เหลือก็ขายมีรายได้เพิ่มอีกทาง  ส่วนเศษใบเศษกิ่งไผ่ก็ทิ้งไว้ในแปลงปล่อยให้จุลินทรีย์ ย่อยสลาย   กลายเป็นปุ๋ยให้ต้นไผ่ต่อไป  นอกจากตัดแต่งต้นเก่าออกปีละครั้งแล้ว    ช่วงเวลาฤดูฝนเป็นช่วงที่ต้องปล่อยให้หน่อไผ่ที่แทงออกห่างกอขึ้นลำ โดยกอหนึ่งจะปล่อยให้ขึ้นลำประมาณ 8-12 ลำ เพื่อเป็นลำแม่ที่จะให้หน่อในฤดูถัดไป  ลำที่ปล่อยขึ้นใหม่จะมีแขนงออกตามข้อ   ต้องคอยตัดแขนงทิ้ง   แขนงที่อ่อนสามารถนำไปรับประทานได้   ในช่วงนอกฤดู   แขนงจะไม่ออกเพราะหน่อไผ่ที่ออกมาจะถูกขุดขายตลอด  ยิ่งขุดยิ่งออกมาเรื่อยๆ    ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นช่วงนาทีทอง   ของคนที่ฝากปากท้องไว้กับไผ่   ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกคบกับไผ่พันธุ์ไหน   ไผ่บงหวานจะเก็บผลผลิตได้   20-50  กิโลกรัมต่อไร่ต่อวัน  (ผลผลิตที่ได้ขึ้นอยู่กับการคัดเลือกสายพันธุ์และการดูแลจัดการที่ถูกต้อง)    ช่วงนอกฤดูตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม    ทางสวนจะขายกิโลกรัมละ  60   บาท    ช่วงในฤดูตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม   ทางสวนขายอยู่ที่กิโลกรัมละ   40   บาท    รายได้โดยเฉลี่ยของไผ่บงหวานไม่น้อยกว่า    75,000  บาท   ต่อไร่ต่อปี     จากการที่ทางสวนได้เก็บข้อมูลไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง    เมื่อเปรียบเทียบกับไผ่สายพันธุ์อื่นๆ     จะพบว่าไผ่บงหวานจะออกหน่อง่าย   ออกได้เรื่อยๆทั้งปี  ระยะเวลาที่หน่อโตพอที่จะขุดได้ใช้เวลาเพียง 2-3 วัน  ในช่วงนอกฤดูจะออกหน่อดก   แต่ในช่วงฤดูฝนราวๆเดือนสิงหาคมเป็นต้นไปก็ต้องปล่อยให้ขึ้นลำไปบ้าง  จึงเก็บผลผลิตได้น้อยกว่าในช่วงนอกฤดู    ในช่วงฤดูฝนเมื่อหน่อไผ่ธรรมชาติออกมา   ทางสวนก็ยังขายหน่อได้    แม้จะได้ราคาไม่สูงมากนักไม่เหมือนในช่วงนอกฤดู   แต่เมื่อเทียบกับการไม่ต้องมีต้นทุนเรื่องน้ำเพราะส่วนมากจะอาศัยน้ำฝน   ซึ่งก็ถือว่าพอใช้ได้   ถ้าเป็นไผ่สายพันธุ์อื่นๆจะมีปัญหาการขายในช่วงฤดูฝน
การคลุมโคนไผ่
          วัสดุที่ใช้คลุมโคนไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง  ให้ใช้ขี้เถ้าแกลบ  ขี้เถ้าจากการเผาแบบชีวะมวล  หรือแกลบดิบที่เก่าๆ  ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงเพราะที่โคนไผ่มีความชื้นพอเพียง  ทำให้หน่อดกและหน่อใหญ่เกษตรกรจะได้น้ำหนักมากกว่าการที่ไม่ได้ใช้วัสดุคลุมโคนไผ่และหน่อยังมีรสชาติที่ดี  มีความกรอบไม่แข็ง  หวาน มากขึ้น  สีผิวของหน่อขาวน่ากิน
โรคและแมลง
          ไผ่บงหวานที่ปลูกพบไม่ค่อยพบโรคของไผ่มากวน  ทำให้ต้นทุนสารเคมีไม่มี  แต่แมลง  พบหนอนม้วนใบบ้างเล็กน้อย  ไม่มีผลเสียหายต่อต้นไผ่  แต่ถ้าไม่ต้องการให้ระบาดก็ตัดใบที่เป็นหนอนม้วนใบไปทิ้งไกลๆหรือเผาทำลาย   นอกจากนี้ยังพบเพลี้ยอ่อนไผ่ได้บ้างเล็กน้อยในช่วงรอยต่อระหว่างฤดูหนาวและฤดูร้อน  แต่พอหมดฤดูหนาวเพลี้ยอ่อนก็จะหายไป  นอกจากแมลงแล้วยังพบหนูและตุ่น  หากเกษตรกรปล่อยให้สวนไผ่บงหวานรก  ก็จะมีหนูมากินหน่อไม้ ทำให้เราได้ผลผลิตลดลง  เกษตรกรต้องอย่าปล่อยให้สวนรก  คอยกำจัดกิ่งไผ่และวัชพืชให้หมดเป็นระยะ  ก็จะไม่มีหนูมารบกวน  พอมีหนูมารบกวนก็จะมีงูเห่ามากินหนูอีกทีทำให้งูเข้ามาอยู่ในสวนไผ่
เคล็ดลับของการขุดหน่อไผ่
          การขุดหน่อไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งเกษตรกรต้องใช้เสียมลับให้คมเวลาขุดหน่อจะได้ไม่ช้ำ   เมื่อจะขุดให้เขี่ยวัสดุที่คลุมหน่อไผ่ออกให้เห็นโคนของหน่อ  แล้วใช้เสียมแทงให้ขาด  ควรให้ติดส่วนของเหง้ามาสัก  2  เซนติเมตร เพื่อกำจัดเนื้อไม้ที่ยังอ่อนซึ่งเป็นที่อยู่ของตากิ่งแขนงข้าง  แต่ถ้าไม่เอาตาข้างที่อัดแน่นกันอยู่ออกให้หมด  ก็จะมีกิ่งแขนงเล็กๆขึ้นอยู่ทำให้กอไผ่รกใต้  และจะส่งผลทำให้ตาหน่อไม่สามารถแทงหน่อได้  ทำให้ไม่ค่อยมีผลผลิต  
สรุปขั้นตอนการจัดการแปลงไผ่เพื่อเก็บหน่อ
- พฤษภาคม                                   เริ่มปลูกไผ่
-  มิถุนายนถึง ตุลาคม     ดูแลกำจัดวัชพืช   ให้น้ำ  ให้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก  ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ แต่งกิ่งแขนงไม่ให้รกที่โคนไผ่  เพื่อป้องกันหนูมากินหน่อ  และง่ายกับการจัดการ
- พฤศจิกายน ถึงธันวาคม  ตัดสางลำแก่ทิ้ง  แต่งกิ่งแขนงข้างต้นไม่ให้กอรก  ใส่ปุ๋ยคอก   คลุมโคนไผ่ด้วยขี้เถ้าแกลบหรือวัสดุอื่นๆที่หาง่าย       ให้น้ำจนชุ่ม
-  มกราคมถึงกรกฎาคม  ขุดหน่อขาย  ให้หมด ห้ามปล่อยขึ้นลำ  เหตุผลเพราะถ้าปล่อยขึ้นลำ  อาหารที่กอไผ่สร้างขึ้นจะไปเลี้ยงลำใหม่ที่ยืดสูงขึ้นจะมีผลทำให้หน่อ ที่เกิดทีหลังฝ่อ  และไม่ค่อยออกหน่อให้เก็บ  
- สิงหาคม ถึงตุลาคม  เก็บหน่อที่เล็กและหน่อที่เกิดชิดต้น    แต่เริ่มปล่อยหน่อที่เกิดห่างกอไว้เป็นลำแม่ใหม่  กอละ  8-12  ลำ
- พฤศจิกายน  ถึงธันวาคม   ปฏิบัติเหมือนขั้นตอนเดิม  ขั้นตอนต่างๆจะวนซ้ำเช่นนี้ทุกๆปี ไป  
                                                                                                                                                                  นอกจากไผ่บงหวานแล้ว      ทางสวนยังได้ปลูกไผ่สายพันธุ์อื่นๆ  อาทิเช่น   ไผ่ตงไต้หวัน   ไผ่เปาะช่อแฮ   ไผ่เลี้ยงสีทอง    ไผ่ซางดำ   ไผ่ตงต่างๆ    ไผ่หก    ไผ่ซางหม่น    ไผ่หม่าจู ไผ่ปักกิ่ง  ไผ่ยักษ์เมืองน่าน   ไผ่บงใหญ่พม่า  ไผ่เป๊าะยักษ์สาละวิน  ไผ่เป๊าะยักษ์ปาเก่อญอ  ไผ่โมโซ และกลุ่มไผ่ประดับ   เป็นต้น  เพื่อปลูกไว้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบในการปลูกไผ่ว่าแต่ละสายพันธุ์สามารถนำมาใช้ปลูกในเชิงพาณิชย์ได้ดีแค่ไหน   วิธีการบริหารจัดการแตกต่างกันอย่างไร    ซึ่งตอนนี้ทางสวนได้รับการ สนับสนุนจากหน่วยงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดแพร่   สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่   สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่    ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ครูเกษตรกร    เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกร   และผู้ที่สนใจการปลูกไผ่  เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจ  เป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพได้อีกทางหนึ่ง   สนใจข้อมูลเพิ่มเติมหรือศึกษาดูงาน  ติดต่อได้ที่สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง   นายวรรณบดี   รักษา   โทร.  083-2663096  ,087-8387334

ราคาจำหน่ายกิ่งพันธุ์ไผ่บงหวาน
-ไผ่บงหวานที่เพาะจากเมล็ดในแปลงแล้วถอนใส่ถุงดำ   ใช้เวลาปีกว่า               ต้นละ  30  บาท
-ไผ่บงหวานที่เพาะจากเมล็ดแล้วลงปลูกในแปลง  2  ปี คัดต้นขมทิ้งไปก่อน      ต้นละ  50 บาท  
-ไผ่บงหวานที่เพาะจากเมล็ดปลูกลงแปลงไปได้  3  ปี ขึ้นไปคัดเลือกสายพันธุ์แล้วใช้ชื่อว่าเพชรน้ำผึ้ง โดยเลือกเอาแต่ต้นที่ให้หน่อใหญ่  พบราวๆ  5% จึงขุดเหง้ามาปลูกอีก 1 ปีแล้วขุดเหง้าขายใส่ถุงดำอีก  2-5 เดือน  รากเต็มถุงแข็งแรงแล้วพร้อมปลูกได้เลย   ต้นละ 100 บาท
-ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งปลูกผ่านไป  5  ปี  เลือกต้นที่ดีที่สุดจากกลุ่มโดยดูจากการเก็บหน่อจำหน่ายผ่านมา 3  ปี  เลือกออกมาเพียง 1 ต้นแล้วแยกเหง้าขยายเพิ่มปริมาณอีก 1 ปีจึงขุดเหง้าใส่ถุงรอ 2-5 เดือนรากเต็มถุงแข็งแรงแล้วพร้อมปลูก  จะเริ่มจำหน่ายได้ในเดือนพฤษภาคม ปี  2556 เรียกไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งเบอร์ 2  ต้นละ   200 บาท                

          การขยายพันธุ์ไผ่บงหวาน  เกษตรกรต้องปลูกไผ่บงหวานดูแลรักษาผ่านไปได้  1  ปีไผ่  1  กอสามารถที่จะแยกเหง้าขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณได้ ราวๆ  12-15  เหง้า    ถ้ามีไผ่บงหวาน  50 กอใช้พื้นที่ปลูก  1งาน  ดูแลรักษาผ่านไป  1 ปีก็จะแยกขยายพันธุ์ได้  600-750  ต้นปลูกเพิ่มได้ไม่ต่ำกว่า  3 ไร่           การขยายพันธุ์ไผ่บงหวานไม่สามรถตอนได้ง่ายหรือปักชำได้  ทำให้การกระจายพันธุ์ช้า  จึงไม่ค่อยเห็นไผ่ชนิดนี้ตามท้องตลาดมากนัก



ฝรั่งกิมจูหรือเจินจู  ปลูก  6  ไร่


ไผ่ซางหม่นปลูกได้  6  เดือน

ไผ่ตงลืมแล้งครับ


ปลูกได้  12  เดือนครบ เริ่มเก็บหน่อได้


ปลูกร่วมกับสัก  ปลูกพร้อมกัน


ปลูกได้  12  เดือนครับ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 28, 2015, 10:57:35 PM โดย ไผ่หวาน » บันทึกการเข้า

สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง

สวนริมชล
เกษตรกรมือใหม่
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 62



« ตอบ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 10, 2009, 11:16:01 AM »

อยู่แถวไหนครับจะแวะไปเยี่ยมขอความรู้ชักหน่อย คนบ้านเดียวกัน (เบอร์โทรก็ดีครับ)

   สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง  บ้านแม่จั๊วะ  ต.แม่จั๊วะ  อ.เด่นชัย  จ.แพร่  083-2663096


Liked By: 5XXA, TAWUN, Ratthapatch
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 04, 2010, 10:56:17 PM โดย ไผ่หวาน » บันทึกการเข้า
ฑิตเฒ่า
เกษตรกรมือใหม่
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 828


มนุษย์เป็นมาตรวัดทุกสิ่งด้วยอัตตประธาน


« ตอบ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 10, 2009, 03:17:19 PM »

ขอไปเมื่อวานวันนี้มาแย้วครับ ขอบคุณนะครับที่ Show and Share

  เริ่มลงรูปเป็นแล้วครับ


Liked By: 5XXA, TAWUN, Ratthapatch
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 24, 2011, 11:15:24 PM โดย ไผ่หวาน » บันทึกการเข้า

เจริญสติให้ยิ่งเป็นมรรคสู่นิพพาน
ไผ่หวาน
เกษตรกรมือใหม่
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 5510

ยินดีให้ข้อมูลด้วยความจริงจังและจริงใจ


« ตอบ #3 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 10, 2009, 10:12:27 PM »

อยู่  อ.เด่นชัย  จ.แพร่  บ้านแม่จั๊วะ   โทร  083-2663096

ปลูกข้าวไว้กิน  3  ไร่  เป็นข้าวเจ้าหอม


แก้วมังกรก็ปลูกไม่มาก


เป็นไผ่ที่ขนาดหน่อไม่ใหญ่  ใช้ทำหน่อไม้ปี๊บ


เป็นไผ่หน่อใหญ่  ขนาด  0.7-2 กก.  ปรุงสุกหวานไวพบได้มากที่แพร่-น่าน


เป็นไผ่จีน  ให้ผลผลิตไม่ดีนัก  แต่ให้หน่อใหญ่  ใบใช้ทำขนมได้


ไปขุดจากป่ามาปลูกกว่าจะได้เล่นเอาเหนื่อยเลย  แต่ก็ติดแล้ว  แต่ลำเล็กไม่เหมือนในป่า


ไผ่ชนิดนี้พบแต่ทางภาคที่มีภูเขา  ข้อยาวใช้ใส่อาหารได้  ความต้องการใช้ลำมีมาก  ยังไม่พอกับความต้องการ
ยัง ปลูกกันได้มากๆ วันนี้มีแต่ไผ่มากหน่อยครับ  เพื่อนสมาชิกปลูกไว้บ้างก็ดีนะ  ประโยชน์ใช้สอยมากมายครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 01, 2010, 08:36:46 PM โดย ไผ่หวาน » บันทึกการเข้า

สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง
ไผ่หวาน
เกษตรกรมือใหม่
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 5510

ยินดีให้ข้อมูลด้วยความจริงจังและจริงใจ


« ตอบ #4 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 11, 2009, 12:27:57 AM »

ลองหาแผนที่มาดูครับ   ใครมาเที่ยวหาได้นะครับ  ช่วยโทรบอกล่วงหน้าด้วยครับ


ปลูกกล้วยหอมไว้ไม่มากครับ  พอกินอยู่ครับ


พุทราลูกใหญ่  แต่อาหารในดินน้อยหน่อยเลยไม่ใหญ่มาก  ปลูกไว้  4  ต้นพอกิน
 กินจนเย็บคอเลยครับ  ช่วงนี้เกือบหมดแล้ว


ทะยอยสุกเรื่อยๆ   ใครอยากได้กิ่งพันธุ์เอาไปชำ  มาเยี่ยมแบ่งไปชำได้ครับ   แบ่งปันกัน


มะพร้าวน้ำหอมอยู่ริมสระ  ดูจะเข้ากันได้อยู่  มีอยู่  7  ต้นครับ


ช่วงนี้เปลืองน้ำมาก  แต่ก็ออกหน่อมาขายอยู่ครับ   เป็นหน่อบงหวานครับ


กฤษณาปลูกแซมกับฝรั่งก็พอโตได้ครับ


ปลูกแค  แก้ร้อนใน  ในยอดอ่อนของแคมีแคโรตินอยสูงชะรอเซลมะเร็งได้
ปลูกมะรุม  กินยอด  แต่ฝักยังไม่ออก  ปลูกได้  12  เดือน
ปลูกผักหวานป่า  ใต้ต้นแค  กับมะรุม  ได้    9  เดือน
ปลูกชะอมได้  9  เดือนเริ่มเก็บยอดได้แล้ว  ทั้งหมดปลูกริมรั้ว 
ยังมีฝรั่งอีกแถวครับ


มะยงชิดครับ  มี  1  ต้น  กำลังจะสุกครับ 


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 16, 2010, 11:02:29 AM โดย ไก่โต้ง » บันทึกการเข้า

สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง
ไผ่หวาน
เกษตรกรมือใหม่
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 5510

ยินดีให้ข้อมูลด้วยความจริงจังและจริงใจ


« ตอบ #5 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 11, 2009, 09:43:43 PM »






  เมื่อ  14  ปีที่ผ่านมาเคยทำส้มมาก่อน   ประสบผลสำเร็จในเรื่องการออกผลดี  อร่อย  หวาน  แต่มีแต่ลงทุน  ไม่ได้กำไรเลย  ทุกวันนี้ปลูกแค่ไม่กี่ต้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 06, 2010, 11:32:24 PM โดย ไผ่หวาน » บันทึกการเข้า

สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง
ไผ่หวาน
เกษตรกรมือใหม่
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 5510

ยินดีให้ข้อมูลด้วยความจริงจังและจริงใจ


« ตอบ #6 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 11, 2009, 09:47:25 PM »

ผักหวานป่า  เริ่มตั้งตัวแตกยอดแล้ว  ไชโย


ขายหน้าสวน  ด้วยร้านเล็กๆครับ


ช่วงที่มีผลผลิตอะไรออกก็ขายสิ่งที่ออกครับ  มีรายได้ทุกวัน 


บ่อเลี้ยงปลาเล็กๆ  ปลูกแฝก  มะม่วง  ไผ่  ปนๆกันไป


ค้างผักพื้นบ้าน  องุ่น  กำลังจะปลูกปนๆกันครับ 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 28, 2011, 12:06:14 AM โดย ไผ่หวาน » บันทึกการเข้า

สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง
ไผ่หวาน
เกษตรกรมือใหม่
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 5510

ยินดีให้ข้อมูลด้วยความจริงจังและจริงใจ


« ตอบ #7 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 11, 2009, 10:01:11 PM »

  ทางเข้วสวนครับ  ยินดีต้อนรับเพื่อนๆสมาชิกชาวเกษตรพอเพียงครับ  ผ่านมาเห็นร้ายเล็กๆหน้าสวนอย่าเลยนะครับ  หลายท่านขับเลยไปหน่อย


มีเกษตรกรเข้ามาศึกษาดูงานครับ 


เอาข้าวออกก็ปลูกฟักทองเก็บยอดกับลูกอ่อน


อบรมการดำเนินการภายในสวน   


มองจากมุมสูง อาคารสูบน้ำครับ  ใช้ไฟฟ้า  ช่วงนี้ค่าไฟอานเลย


มองจากมุมสูงอีกภาพ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 06, 2010, 11:27:51 PM โดย ไผ่หวาน » บันทึกการเข้า

สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง
Kampoo
เกษตรกรมือใหม่
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 165



« ตอบ #8 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 11, 2009, 11:22:58 PM »

เห็นภาพแล้วอยากมีสวนบ้าง  ชีวิตนี้คงพอเพียง ช่วงนี้ยังกล้าๆๆ กลัวๆๆ ที่จะลงมือทำเพราะกลัวตัวเองไปไม่รอดเพราะไม่เคยทำเกษตร ทำก้อไม่เต็มทีประสบการณ์ก้อไม่มี ขอคำแนะนำจากผู้รู้ด้วยนะครับ

  ยินดีครับ  ก็ไม่ใช้ผู้รู้อะไรครับ เป็นแค่เกษตรกรครับแต่ทำจริง  ถามมาบ่อยๆครับ  หรือมาศึกษาดูงานที่สวนได้ก็ดีครับ



  มีเวลาว่างจากการทำสวนก็ไปเยี่ยมเกษตรกรด้วยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน  เป็นคุณลำพึงกับแปลงชะอมไร้หนามที่พิจิตร



  ครอบครัวผมและครอบครัวพี่สาวคุณลำพึงเยี่ยมดูแปลงเกษตรกรผู้ปลูกผักหวานป่าบ้านหมอ  ได้ความรู้ในการปลูกผักหวานป่ามาปรับปรุงการปลูกที่แพร่ครัว  ขอบคุณเกษตรกรที่บ้านหมอครับ



พาเกษตรกรจากลำพูน  ไปดูการปลูกผักหวานป่าที่ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ เป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกผักหวานป่าอีกแห่ง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 06, 2010, 11:56:28 PM โดย ไผ่หวาน » บันทึกการเข้า
ไผ่หวาน
เกษตรกรมือใหม่
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 5510

ยินดีให้ข้อมูลด้วยความจริงจังและจริงใจ


« ตอบ #9 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 12, 2009, 07:00:58 AM »



    เป็นมะละกอทานสุกเรดเลดี้



   ไผ่หวานเพชรล้านนา
ที่สวนนอกจากปลูกพืชหลายๆอย่างแล้วก็ชอบปลูกไผ่หวานที่ทานดิบได้  นอกจากไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งแล้วก็มีไผ่หวานเพชรล้านนาที่หวานหอม  ทานดิบก็หวาน  เนื้อจะนิ่มนุ่มกว่าบงหวานเพชรน้ำผึ้ง  หน่อขนาด  1  กก.ต่อหน่อ  ความที่ใหญ่กว่าบงหวานทำให้สามารถนำไปแกะสลักได้ก่อนนำไปทำอาหาร



   ปรกติจะชอบผัดผักต่าง  ทีนี้เมนูหน่อไม้หวานเพชรล้านนาก็น่าทานไม่แพ้กัน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 07, 2010, 12:01:28 AM โดย ไผ่หวาน » บันทึกการเข้า

สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง
jib0067
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #10 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 12, 2009, 09:40:45 AM »

แอบเข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้ค่ะ ยิ้ม ปลูกพืชผสมผสานดีม๊ากๆเลย ขออนุญาตเอาไปต้นแบบนะค่ะ
อยากไปแอ่วจัง ที่สวนจัดเป็นระเบียบมาก  ใช้คนดูแลกี่คนค่ะ ว่างๆถ่ายรูปมาโชว์อีกนะค่ะ

   ยินดีครับ  ยังไงมาเที่ยวนะครับ  มีหลายๆอย่างให้ชิมครับ


Liked By: 5XXA, Ratthapatch
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 07, 2010, 12:03:12 AM โดย ไผ่หวาน » บันทึกการเข้า
..ตะวันอ้อมข้าว..
เกษตรกรมือใหม่
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 202


"คืนสีเขียวเรียวรุ้งและทุ่งหญ้า"


« ตอบ #11 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 12, 2009, 10:51:42 AM »

ขอบคุณที่นำมาแลกเปลี่ยนกันค่ะ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีทีเดียว  อายจัง

  ด้วยความยินดีครับ


Liked By: tapairat, 5XXA, Ratthapatch
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 04, 2010, 11:00:18 PM โดย ไผ่หวาน » บันทึกการเข้า
Tapan
เกษตรกรมือใหม่
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 80


« ตอบ #12 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 12, 2009, 11:32:27 AM »

ขอความรู้ด้วยคนครับ... ยิ้ม

ไม่ทราบว่ามีค่าใช่จ่ายต่อเดือนประมาณเท่าไหร่ครับ..ขอบคุณครับ.

  ค่าใช้จ่ายประมาณ  20,000-50,000  บาทแล้วแต่บางเดือนครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 07, 2010, 12:04:18 AM โดย ไผ่หวาน » บันทึกการเข้า
ไผ่หวาน
เกษตรกรมือใหม่
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 5510

ยินดีให้ข้อมูลด้วยความจริงจังและจริงใจ


« ตอบ #13 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 12, 2009, 08:07:46 PM »

           ที่สวนปลูกไผ่กิมซุ่งส่วนหนึ่งเพื่อสอนให้เกษตรกรที่เข้ามาดูงาน  ได้เรียนรู้การทำให้ไผ่กิมซุ่งออกนอกฤดูได้  จะทำให้มีรายได้จากการขายหน่อในราคาที่ดีมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ขายแต่ในฤดูฝนอย่างเดียว

 การทำไผ่กิมซุ่งให้ออกนอกฤดูได้นั้นหมายความว่าหน่อของกิมซุ่งต้องออกมาขายได้ในเดือน  ธันวาคม  มกราคม  กุมภาพันธุ์  มีนาคม  เมษายน  พฤษภาคม  นั่นก็คือจะได้ขายในราคาส่งไม่ต่ำกว่า  30  บาทนาน  5-6  เดือน  จึงจะทำให้ประสบความสำเร็จในการปลูกไผ่เพื่อขายหน่อไม้และมีรายได้ที่ดีเป็นเงินก้อนที่จะเก็บไว้ปรับปรุงงานเกษตรหรืออยากได้อะไรก็ได้   และในเดือนมิถุนายนซึ่งมีหน่อไม้ออกมามาก ก็ยังตัดหน่อขายอยู่แต่ก็ได้ราคาต่ำลงมาเรื่อยๆ  ถือว่าเป็นค่าแรงงานและปุ๋ย
     ไผ่กิมซุ่งถึงแม้ว่าไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำ  ในช่วงปีแรกคือหลังจากปลูกได้  6-8  เดือน  ไผ่จะอยู่ในช่วงที่สร้างกอหน่อจะออกง่ายแค่ให้น้ำไม่ต้องทำอะไรมาก  เพราะอยู่ในช่วงที่ไผ่กิมซุ่งกำลังสร้างกอจะแตกหน่อเรื่อยๆเพื่อให้กอใหญ่  บางท่านอาจจะคิดว่าหน่อกิมซุ่งทำนอกฤดูง่าย  แต่ถ้าผ่านไปในปีที่สองเป็นต้นไป   ถ้าไม่เข้าใจการทำก็จะทำให้หน่อออกในเดือนมกราคมเป็นต้นไปไม่ได้  ในเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงหน่อไม้สดแพงที่สุด หากไม่เข้าใจวิธีการปฏิบัติหน่อกิมซุ่งจะไปออกก่อนฝนเล็กน้อยคือออกเดือนเมษายน  ขายได้แพงแค่เดือนเดียวและจะไปออกมากในฤดูฝนทำให้มีรายได้ในการทำหน่อไม้ไม่มากเท่าที่ควร

หลักการทำไผ่กิมซุ่งให้ออกนอกฤดูทำได้ดังนี้

     1.ระหว่างฤดูฝนเกษตรกรจะเก็บหน่อกิมซุ่งจำหน่ายได้ทุกๆวันราคาตามภาวะตลาดแต่พอถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคมของทุกปีหรือต้นเดือนสิงหาคม  เกษตรกรจะต้องเริ่มไว้หน่อเพื่อจะให้ขึ้นเป็นลำใหม่หรือเรียกว่าลำแม่  สำหรับไผ่กิมซุ่งจะไว้ลำแม่ปีละ  2-3  หน่อต่อกอสำหรับเกษตรกรที่ปลูกระยะ  4  คูณ  4  เมตร  และถ้าเกษตรกรปลูกที่ระยะ  4  คูณ  6  เมตรจะไว้ลำแม่ที่  3-4  ลำแต่กอ  โดยเลือกไว้หน่อที่อยู่ห่างกอห่างลำเก่า  และควรเป็นหน่อที่มุดจากดินขึ้นมาหรืออยู่ชิดกับดิน  ไม่ควรไว้หน่อที่ลอยอยู่เหนือดินมากเกินไปเพราะจะทำให้กอลอยเร็ว  ถ้ากอลอยเร็วจะทำให้หน่อออกนอกฤดูยากขึ้น(แต่ฤดูฝนชุกก็ออกหน่อตามปรกติ)   ส่วนหน่ออื่นๆที่ไม่เอาไว้เป็นลำแม่(หน่อที่ชิดต้น หน่อที่ลอยมาก หน่อเล็กเกินไป )  ก็ให้ตัดขายโดยการต้มหรือทำหน่อไม้ดองขายในช่วงที่หน่อไม้ขาดตลาด
     ระหว่างที่เริ่มไว้ลำแม่ใหม่ควรใส่ปุ๋ยคอกเช่นขี้ไก่แห้ง หรือขี้หมูแห้ง กอละ  10-20  กก.โดยโรยรอบๆกอเป็นบริเวณกว้าง  ห้ามนำไปใส่บนกอหรือโคนของไผ่กิมซุ่งเด็ดขาดเหตุผลเพราะกอไผ่กิมซุ่งจะลอยเร็ว (รากของไผ่กิมซุ่งจะแข็งแรงมากจะขึ้นมากินปุ๋ยอัดกันจนแน่นทำให้ตัดหน่อยากจึงตัดสูงกอจึงลอยเร็ว)  จะทำให้หน่อออกช่วงนอกฤดูในปีที่ 2- 3  ยากและปีต่อๆไปก็ยิ่งยากขึ้น  การใส่ปุ๋ยในช่วงที่เราไว้ลำแม่  จะช่วยทำให้หน่อที่เกิดใหม่ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน  จะทำให้ลำแม่ที่ไว้ใหม่มีความสมบรูณ์ 
     2.การปลูกไผ่กิมซุ่งเพื่อขายหน่อจะต่างจากการปลูกไผ่เพื่อขายไม้(การปลูกไผ่กิมซุ่งเพื่อขายไม้หรือขายหน่อแต่ในฤดูฝน จะไม่ต้องตัดยอดทิ้ง  ให้ไว้ตามปรกติ ) การไว้ลำไผ่จะไว้ความสูงที่  3-4  เมตรตั้งแต่กอไผ่มีอายุ  8  เดือนหลังจากปลูก(ต้นแม่เดิมระหว่างที่เก็บหน่อสูงที่  3-4  เมตรแต่ถ้าเกษตรกรท่านใดที่ยังไม่เคยตัดยอดมาก่อนก็ยังไม่ต้องตัดยอดของต้นแม่เดิม)  เมื่อหน่อของไผ่กิมซุ่งในฤดูกาลใหม่ที่ไว้สูงเกิน  4  เมตรก็ให้ตัดยอดทิ้ง ซึ่งจะตัดความสูงพอดีกับลำแม่ในปีที่ผ่านมา การตัดยอดควรไว้ที่ความสูง  3 -4  เมตร  และการตัดยอดควรตัดในช่วงที่ลำไผ่ยังอ่อนๆอยู่ยังไม่แตกกิ่งแขนง  จะทำให้ตัดง่าย (ระหว่างที่ตัดยอดของหน่อใหม่ที่พุ่งขึ้นมาอาหารที่เลี้ยงหน่อใหม่ก็ยังคงมาจากต้นแม่เดิมระหว่างให้หน่อรุ่นใหม่ขึ้นยังไม่ได้ตัดต้นแม่ทิ้ง) เหตุผลในการตัดยอดของหน่อลำแม่ใหม่คือ  ถ้าปล่อยให้หน่อใหม่สูงไปเรื่อยๆ  15-20 เมตร  กอไผ่จะเสียอาหารมากในการสร้างลำไผ่ให้สูง  ถ้าเกษตรกรตัดลำไว้ที่  3-4  เมตรขณะที่ยังไม่สูงมาก  กอไผ่ก็จะไม่เสียอาหารที่สะสมไว้ (อาหารที่เหลือก็จะทำให้ลำแม่ใหม่มีกิ่งและใบเร็วขึ้นและจะให้หน่อเกิดใหม่ในฤดูแล้งได้ดีและได้หน่อในเดือนธันวาคมเป็นต้นไปหากไม่ตัดยอดจะใช้เวลาในการสร้างต้นให้สูงเต็มที่แล้วถึงจะมีใบที่แก่จะต้องใช้เวลาเพิ่มไปอีก  2-3  เดือนทำให้หน่อออกไม่ทันในเดือนธันวาคม )  ไผ่กิมซุ่งจากหน่อที่โผล่พ้นดินและพุ่งสูงจนพ้นยอดต้นแม่เดิมที่ไม่ตัดยอดของต้นแม่ยิ่งต้นแม่สูงมากๆก็ยิ่งใช้เวลามากขึ้น จะใช้เวลา 4-6  เดือนกว่าจะมีกิ่งและใบที่แก่ที่พร้อมจะให้หน่อใหม่  ถ้าตัดยอดของต้นแม่มาตั้งแต่เริ่มต้นและตัดยอดของต้นแม่ใหม่จะใช้เวลาเพียง  3-4  เดือน  และอีกเหตุผลคือ ถ้าไผ่กิมซุ่งที่ทำหน่อนอกฤดูสูงมากๆ  ( คือไม่ตัดยอดของลำแม่ใหม่ ) เวลาถูกลมพายุแรงๆ  ไผ่กิมซุ่งจะโค่น เมื่อกอไผ่โค่นรากจะสะเทือน การหาน้ำและอาหารก็หยุดชะงัก หน่อที่กำลังจะโตก็หยุดและไม่โต หน่อที่จะโผล่ก็หยุดออก  มีผลทำให้การออกหน่อชะงัก  ผลผลิตต่ำ  รายได้จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเราไม่ตัดยอดไผ่กิมซุ่งให้ต่ำ  และพายุฤดูร้อนไม่ได้มาแค่ครั้งเดียว  ไผ่กิมซุ่งจะต้องถูกพายุหลายละลอก ในระหว่างที่ให้หน่อ ก็ต้องสะดุดและผลผลิตต่ำหลายครั้ง(สาเหตุหนึ่งที่ทำให้หน่อที่อยู่ๆก็ฝ่อ) ถ้าตัดยอด ไผ่กิมซุ่งใช้เวลาจากที่หน่อโผล่ออกมาจนมีใบแก่พร้อมที่จะให้หน่อได้จะใช้เวลา  3-4  เดือนหากไม่ตัดยอดของลำแม่ ลำแม่ที่ได้จะใช้เวลานานขึ้น (ประมาณ 5-6เดือน) เพราะต้องส่งตัวเองให้สูงจนสุดก่อนแล้วจึงจะมีกิ่งและใบจะทำให้เสียเวลานานขึ้น เมื่อเราต้องการให้หน่อออกในเดือนธันวาคมจึงออกไม่ได้เพราะลำแม่ใหม่ยังไม่แก่พอที่จะให้หน่อ  เกษตรกรหลายๆท่านจึงได้หน่อก่อนฝนมาเพียง 1  เดือนคือจะออกหน่อประมาณเดือนเมษายนและไม่นานก็เข้าสู่ฤดูฝนมีหน่อไม้ต่างๆออกมามาก  ราคาหน่อจะถูกลงอย่างรวดเร็ว
     3.เมื่อลำไผ่ที่ไว้ กอละ  2-3  ลำเริ่มมีใบแตกออกมามากพอที่จะสร้างอาหารเองได้  โดยไม่ต้องอาศัยอาหารจากต้นเก่า สังเกตุดูใบของไผ่จะมีมากใบมีสีเขียวเข้มและกางทั้งหมด และเริ่มมีตาเต่าที่พร้อมจะเป็นหน่อ  ก็ทำการตัดสางต้นเก่าออกให้หมด  ซึ่งจะตรงกับต้นเดือนพฤศจิกายนพอดี  ต้นที่เหลือเพื่อไว้เป็นลำแม่ให้ตัดแขนงข้างที่รกทิ้งให้หมด  เพื่อให้การเดินทำงานใต้ต้นกอไผ่ได้สะดวก  และกอไผ่ไม่ต้องเสียอาหารที่สร้างจากแสงแดดไปเลี้ยงกิ่งแขนงที่อยู่ใต้ต้นไผ่  จากนั้นก็ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรอบกอไผ่กอละประมาณ  ถ้าเป็นขี้ไก่ไข่ใส่กอละ  ครึ่งกระสอบปุ๋ย  ถ้าเป็นขี้ไก่เนื้อจะเป็นขี้ไก่ปนแกลบจะใส่กอละ 1  กระสอบ  หรือเป็นขี้หมูใส่กอละ  1  กระสอบการใส่อย่าใส่ที่โคนไผ่เด็ดขาดเพราะกอจะลอยเร็ว  เมื่อใส่ปุ๋ยเสร็จก็ควรจะใช้ฟางข้าวคลุมโคนไผ่เพื่อรักษาความชื้นที่กอไผ่  (การคลุมโคนไผ่จะให้ผลผลิตหน่อดกกว่ากอที่ไม่ได้คลุมโคน)  ถ้าไม่มีฟางข้าวใช้เปลือกข้าวโพดได้  ฟางข้าวหรือเปลือกข้าวโพดรากไผ่กิมซุ่งจะเกาะช้าหรือไม่เกาะ  การตัดแต่งกอ การให้ปุ๋ยและการคลุมโคนไผ่  ควรจะทำให้เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน  ขั้นตอนที่ดูแลมาตั้งแต่การไว้ลำจนตัดสางกอไม่ควรจะให้ดินแห้งเด็ดขาด คือถ้าฝนไม่ตกหลายๆวันก็ต้องให้น้ำ (  หากเกษตรกรไม่ให้น้ำหลังจากฝนหยุดตกไผ่กิมซุ่งจะพักตัว  ลำแม่ใหม่ที่สร้างตาเต่าที่จะพัฒนาเป็นหน่อก็จะพักตัวไปเลย  หากเกษตรกรไม่สนใจ ไผ่กิมซุ่งก็จะพักตัวไปเลย  พอเกษตรกรพร้อมที่จะตัดสางกอ  ตัดแต่งกิ่ง  และให้ปุ๋ยให้น้ำ ไผ่ก็จะไม่ออกหน่อ  ให้น้ำไปเรื่อยๆก็ไม่ออกหน่อ  กว่าจะออกหน่อก็เดือนมีนาคมหรือเดือนเมษายน  ทำให้เสียโอกาสไปหลายเดือน) และถ้าฝนไม่ตกเลยหรือหมดฤดูฝนแล้วก็ควรให้น้ำทุกๆ  3  วันโดยสปิงเกอร์  ให้ครั้งละ  1  ชั่วโมงหรือใช้เหล็กแหลมแทงดินตรวจดูน้ำที่ให้จะต้องซึมลงดินได้ลึกราวๆ  30  เซนติเมตร  และควรจะกระจายให้ทั่วทุกกอเป็นวงกว้าง  ไม่ใช่ใส่แต่ที่โคนเพราะรากไผ่หากินห่างจากโคนไผ่ไปหลายเมตรแล้ว    น้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ถ้าจะทำหน่อไผ่กิมซุ่งนอกฤดูต้องมีน้ำพอ  ไผ่กิมซุ่งเป็นไผ่ที่ต้องการน้ำมาก  ยิ่งเราไว้ต้นสูงๆโดยไม่ตัดยอดเมื่อมีใบมาก  ในฤดูแล้งไผ่ก็จะคายน้ำมาก  การดูดน้ำก็จะมากตามไปด้วย  ถ้าไม่มีน้ำก็ไม่สามารถทำหน่อนอกฤดูได้เลย  คงต้องรอฝนและได้หน่อแต่ในฤดูฝน
     4.เกษตรกรต้องให้น้ำไปเรื่อยๆ  เมื่อมีหน่อออกมาซึ่งจะใช้เวลาไม่นานนัก หน่อจะออกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป (เมื่อเกษตรกรเริ่มให้น้ำต่อเนื่องหลังจากฝนหยุดตก) จะต้องตัดหน่อออกแม้ว่าจะยังขายที่ราคาไม่สูง  แต่ก็ต้องตัดหน่อ  ถ้าคิดจะเก็บหน่อนอกฤดูในเดือนธันวาคมเป็นต้นไปห้ามปล่อยให้หน่อขึ้นลำอีกเด็ดขาด  เพราะถ้าขึ้นลำ  อาหารจะถูกส่งไปเลี้ยงลำแทน  หน่ออื่นๆที่จะโตมาก็จะถูกข่มและฝ่อไปอีก (ทำให้ต้องรอไปอีก  4  เดือน  จะให้หน่ออีกครั้งก็เดือนเมษายน) นิสัยหน่อไผ่ยิ่งตัดยิ่งออก  ควรจะตัดหน่อขายทุกหน่อไม่ต้องไว้ลำจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมพอดีคือต้นเดือนสิงหาคม   ถ้าทำได้ตามที่กล่าวมาการเก็บหน่อไผ่กิมซุ่งในช่วงราคาแพงจะเก็บได้วันละ  10-15  กก.ต่อ1 ไร่ ต่อวัน โดยเลือกหน่อที่โตก่อน ส่วนหน่อที่เล็กกว่าให้ตัดในวันถัดไป  การตัดหน่อควรจะตัดให้เหลือตาหน่อไว้  2-3  ตาเพื่อจะให้เกิดหน่อได้อีกที่ใต้รอยตัด  ส่วนการใส่ปุ๋ยครั้งต่อไปจะใส่อีกเมื่อไหร่ให้สังเกตุจากขนาดและรูปร่างของหน่อไผ่   ถ้าหน่อไผ่กิมซุ่งมีขนาดที่เล็กลง  และไม่อวบตั้งแต่โคนถึงปลายนั่นหมายความว่าปุ๋ยในดินเริ่มหมด ก็ให้ใส่ได้ทันที จะไม่เกิน 30  วันก็ต้องใส่  เกษตรกรถ้าอยากได้ผลผลิตในช่วงนอกฤดูสูงก็ต้องใส่ปุ๋ยและน้ำให้ต้นไผ่ต่อเนื่อง  ต้นไผ่ถึงจะให้ผลผลิตที่สูงในช่วงที่หน่อราคาแพง  ไผ่กิงซุ่งนั้นยิ่งใส่ปุ๋ยหน่อยิ่งดกและน้ำหนักดี   ตลอดฤดูแล้งตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไปผลผลิตของหน่อจะเก็บได้  3,000-4,000  กก.ต่อไร่ต่อปี
     5.การเก็บหน่อกิมซุ่งขายจะตัดหน่อตั้งแต่เดือนธันวาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม (การตัดหน่อตั้งแต่เดือนธันวาคมจะพบเฉพาะเกษตรกรที่ตัดยอดที่  3-4  เมตรแต่ถ้าไม่ตัดยอดลำไผ่จะต้องสูงไปอีกเกือบ  10  เมตรจะใช้เวลาเพิ่มกว่าจะมีใบแก่ไปอีก  2-3  เดือนจะตัดหน่อได้ที่เดือนมีนาคม)  ระหว่างที่ตัดหน่อห้ามไว้ลำใหม่เด็ดขาดจะต้องตัดให้หมดการตัดหน่อต้องตัดให้เหลือตาหน่อไว้  2-3  ตาเพื่อจะได้มีจุดที่ให้หน่อเพิ่ม  ช่วงเดือนธันวาคมและเดือนมกราคมราคาหน่อไม้จะแพงที่สุด และค่อยๆลดลงจนถึงฤดูฝน  และในฤดูที่หน่อทั่วๆไปออกมามากไม่จำเป็นต้องตัดหน่อ เปลี่ยนมาไว้ลำแม่ ไม่จำเป็นต้องไว้ลำต่อกอมากต้องการกอละ  3 ลำ  หน่อที่เหลือก็ยังตัดไปจำหน่ายได้  และพอปลายเดือนกรกฏาคมก็เริ่มไว้ลำใหม่ได้ก็จะกลับเข้าสู่ขั้นตอนเดิมคือเริ่มตั้งแต่ข้อ  1  ถึงข้อ  5  ใหม่

     โดยธรรมชาติของไผ่ในฤดูฝนหน่อจะดกมากไม่ว่าจะไผ่พันธุ์ไหน  แต่ราคาส่งจะอยู่ที่  3-7  บาทต่อกก. ถ้าเราไม่มีการจัดการอะไรเลยก็จะได้หน่อไม้แต่ฤดูฝน  แม้ว่าจะได้หน่อดกมากอาจได้ถึง 5,000  กก.ในพื้นที่  1  ไร่แต่รายได้จะอยู่ที่  15,000 - 35,000  บาท  แต่หากเกษตรกรมีการเลือกสายพันธุ์ที่ปลูก  มีการตัดสางกอ  มีการตัดแต่กิ่ง  มีการให้น้ำในช่วงเดือนพฤศจิกายน มีการให้ปุ๋ยที่มากพอ  แม้ในช่วงเดือนธันวาคม  มาราคม  กุมภาพันธุ์  มีนาคม เมษายน  หน่อจะออกมาแต่ไม่ดก  ในพื้นที่  1  ไร่จะได้หน่อที่  1,000-2,000  กก.ราคาขายส่งจะแพงอยู่ที่กิโลกรัมละ  40  บาท ผลผลิตถึงแม้จะน้อยแต่รายได้อยู่ที่  40,000-80,000  บาท  และในเดือนถัดไปจนถึงฤดูฝนยังสามารถเก็บหน่อไผ่ได้อีกส่วนหนึ่ง







« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 25, 2011, 09:23:02 PM โดย ไผ่หวาน » บันทึกการเข้า

สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง
ชาวนา™
Administrator
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 11795


เกษตรพอเพียง


« ตอบ #14 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 12, 2009, 08:28:19 PM »

ยินดีด้วยครับ  เริ่มมีผู้มาศึกษาดูงานแล้ว  ต่อไปก็จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชน  เราให้เขาก่อนหลังจากนั้น  ผลตอบแทนจะกลับมาอย่างน่าประหลาดใจ ... อยากทราบวิธีการผลิตหน่อไม้ในหน้าแล้งครับ  ว่าต้องทำอย่างไร  แล้วทำได้กับไผ่ทุกพันธุ์หรือไม่ครับ

ขอบคุณที่มาร่วมแบ่งปัน ได้ความรู้และแรงบันดาลใจเยอะเลยครับ




   คุณแสวง  เดิมทีปลูกไผ่เปาะช่อแฮ  ตงศรีปราจีน  ไผ่หม่าจู ไผ่เลี้ยงหวาน  มาเที่ยวที่สวน  ทุกวันนี้ปลูกกิมซุ่งกับบงหวานและเปาะเท่าเดิม  ล้มไผ่เลี้ยงหวาน  ไผ่หม่าจู  ตงศรีปราจีนเพื่อปลูกกิมซุ่งเพิ่ม


   ไผ่เปาะที่คุณแสวงปลูก  เป็นไผ่ที่มีถิ่นกำเนิดในป่าเขตของแพร่-น่าน  ออกนอกฤดูดี  หน่อให้รสชาติดิบขม  ต้องต้มน้ำทิ้งหรือต้มนานๆจึงจะหวาน  น้ำที่ต้มมีสีเหลือง  ให้ผลผลิตที่พอเข้าตลาดได้ในปีที่  2  เป็นต้นไป  ชอบดินร่วนปนทราย  ถ้าเป็นดินอื่นๆจะยิ่งโตช้ามาก  ทำให้ได้ผลตอบแทนหน่อช้าไปอีก  ระยะปลูกที่ดีควรเป็นระยะ  4*4  เมตร  แต่งไม้ไผ่ลำแก่ออกให้เหลือ  5-8  ลำต่อกอต่อปี    หน่อมีเนื้อนิ่ม  ไม่เหมาะกับการดองเพราะจะทำให้เละ  ลำไม้เปาะบางใช้สอยไม่ทน  ผลผลิตต่อไร่ต่อปี  ไม่ต่ำกว่า  2,000  กก.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 07, 2010, 12:35:12 AM โดย ไผ่หวาน » บันทึกการเข้า
ไผ่หวาน
เกษตรกรมือใหม่
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 5510

ยินดีให้ข้อมูลด้วยความจริงจังและจริงใจ


« ตอบ #15 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 12, 2009, 08:51:38 PM »

ขอบคุณ คุณชาวนาครับ  ที่ได้ให้โอกาสร่วมแบ่งปัน
     ไผ่ที่ทำให้ออกนอกฤดูได้ไม่ใช่ทำได้ทุกสายพันธุ์ครับ  ที่ทำได้คือ                       
1. ไผ่ตงลืมแล้งหรือกิมซุ่งหรือตงไต้หวันหรือเขียวเขาสมิง หรือทองสยาม หลายชื่อแต่เป็นไผ่ที่ให้หน่อสีเดียวกันดกเหมือนกัน  ชิมดิบจะขมต้มแล้วน้ำเหลือง 
2.ไผ่บงหวาน  ชิมดิบหวาน  ต้มน้ำขาว
3.ไผ่หวานเพชรล้านนา  ชิมดิบหวาน  ต้มแล้วน้ำขาว 
4.ไผ่เปาะช่อแฮชิมดิบขม  ต้มแล้วน้ำขาว ต้องทิ้งน้ำ
5.ไผ่เลี้ยงหวาน  ชิมดิบขม  ต้มแล้วน้ำเหลืองต้องทิ้งน้ำ
     การทำหน่อนอกฤดู  ไม่ใช่ว่าจะให้น้ำอย่างเดียวก็ออก  ต้องทำการคลุมโคนกอไผ่ด้วยฟางหรือขี้เถ้าดำหรือเศษพืชที่หาได้  ให้ธาตุอาหารที่มีไนโตรเจนสูงระหว่างให้น้ำ  ตัดแต่งต้นไม่ควรจะเกิน 5  ต้นต่อกอแล้วแต่สายพันธุ์ก่อนที่จะให้น้ำ  ไถตัดราก  2-3 เดือนก่อนให้น้ำ  สรุปให้น้ำตั้งแต่เดือนธันวาคม  จะออกหน่อเดือนมกราคมเป็นต้นไปครับ  ส่วนในฤดูฝน  ให้ปล่อยลำบ้าง  เก็บหน่อบ้าง

เป็นไผ่กิมซุ่งครับ


   ไผ่กิมซุ่ง  ควรจะไว้  3  ต้นต่อกอถึงจะให้หน่อดก  ต้นที่ตัดทิ้งนำไปขยายพันธุ์ต่อได้ครับ  ไผ่ตัวนี้เป็นไผ่ที่ทำเป็นการค้าจะคุ้ม  ให้ผลตอบแทนไว   ถ้าเข้าตลาดสดในท้องถิ่นไม่หมด สามารถแปรรูปได้ครับ

การปลูกไผ่กิมซุ่งจากประสบการณ์
          ผมเขียนเรื่องการปลูกไผ่กิมซุ่งขึ้นมากจากประสบการณ์การทำไผ่กิมซุ่งมาได้หลายปีแล้ว   อาจจะไม่เหมือนตำราของท่านผู้รู้อื่นๆ   ท่านใดที่ได้แวะผ่านเข้ามาอ่านเห็นว่ามีประโยชน์จะนำไปใช้เพื่อเป็นคู่มือในการปลูกไผ่เพื่อให้ประสบความสำเร็จ  ผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง  แต่ถ้าเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ที่จะนำไปปฏิบัติ  ก็อ่านแล้วก็ผ่านเลยไป   ผมเองเห็นเกษตรกรหลายๆท่านซื้อไผ่กิมซุ่งมาปลูกเพราะได้ยินมาว่าปลูกง่าย  ปลูกเพียง  6  เดือนก็สามารถเก็บหน่อกินและจำหน่ายได้  แต่ก็ไม่ประสบณ์ความสำเร็จตามที่ผู้ขายพันธุ์โฆษณาไว้  แต่ก็เกิดความผิดหวัง  ท้อแท้ และกลายเป็นไผ่ไม่ใช้ทางเดินที่ถูก  ต้องเสียเวลาไปเริ่มกับพืชอื่นๆใหม่   ผมเองก็อยากจะบอกว่าไผ่อาจจะปลูกง่าย  แต่จะปลูกให้ได้ผลผลิตกินหรือจำหน่ายสำหรับเกษตรกรที่คิดจะทำเป็นอาชีพไม่ใช้ง่าย  เกษตรกรต้องมีน้ำเป็นสิ่งสำคัญ  มีความขยันอดทน  มีความรู้ในเรื่องไผ่ชนิดที่เกษตรกรเลือก  มีหัวเป็นพ่อค้าสามารถที่จำรู้ว่าจะนำหน่อไม้ไปขายได้ที่ไหน  ลำไผ่จะไปขายได้ที่ไหน  และไผ่ไม่ใช่ปลูกง่ายนัก  เกษตรกรถ้ามีโอกาสจะต้องศึกษาดูงานจากสวนจริงด้วย  เพราะงานได้เห็นจะทำให้เข้าใจได้เร็วกว่าการอ่านเพียงอย่างเดียว
       
          ไผ่กิมซุ่ง   เป็นชื่อทางการค้าของไผ่ในสกุลไผ่ป่าชนิดหนึ่ง คือสกุล  Bambusa   มีชื่อวิทยาศาสตรว่า  Bambusa   beecheyama   ไผ่ตัวนี้มีชื่อทางการค้าอีกหลายชื่อคือ  ไผ่ตงไต้หวัน  ไผ่จีนเขียวเขาสมิง  ไผ่ตงลืมแล้ง    ไผ่ตงอินโด     ไผ่ทองสยาม  ไผ่หวานต่างๆ  เป็นต้น   ไผ่กิมซุ่งไม่มีท่านใดทราบโดยมีหลักฐานว่าเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่  ไผ่ตัวนี้มีอายุกี่ปีแล้ว  และไผ่กิมซุ่งจะอยู่ไปอีกกี่ปีจึงจะออกดอก   จากประสบการณ์  ผมได้พบต้นที่เก่าแก่มากๆ  เกษตรกรปลูกโดยไม่สนใจ  ไม่เคยสางกอเลย  กอใหญ่อัดแน่นมาก  มีชาวบ้านมาเอาหน่อไปกินทั้งหมู่บ้าน  แต่ก็ไม่ได้สนใจที่จะทำเป็นการค้า  จากการสอบถามชาวบ้าน  ชาวบ้านบอกว่าได้ปลูกมา  25  ปีกว่าแล้ว  หน่อก็ยังออกดกเป็นปรกติอยู่  ผมดูแล้วดกมาก  นับว่าไผ่ตัวนี้น่าสนใจทีเดียว  ผมนำมาปลูกในสวนได้  5  ปีแล้ว  และเพื่อนๆกลุ่มเดียวกันก็นำไปปลูกพร้อมกัน  ทำนอกฤดูในแนวเดียวกัน  พบว่าไผ่กิมซุ่งสามารถทำให้ออกหน่อทะวายได้ตลอดทั้งปีถ้ามีการให้น้ำและปุ๋ยอย่างเพียงพอ  และสามรถทำให้ออกหน่อได้ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไปซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีฝน  และหน่อไม้ตามท้องตลาดมีน้อย  หน่อไม้จะมีราคาดีที่สุด    การปลูกไผ่กิมซุ่งสามารถแนะนำได้ดังนี้
การเตรียมดิน

     พื้นที่ปลูก  เกษตรกรควรเลือกพื้นที่  ที่เป็นดินทราย  หรือดินร่วนปนทราย  หากเป็นดินเหนียวหรือดินลูกรังก็ปลูกได้  แต่จะต้องปรับปรุงดินรอบๆกอไผ่ด้วยอินทรีย์วัตถุมากหน่อย  รากไผ่กิมซุ่งแข็งแรงและหาอาหารเก่ง  สามารถปลูกได้ทุกสภาพดิน  หากเป็นพื้นที่ดอนหรือที่ที่น้ำไม่ท่วมขัง ก็สามารถปลูกได้ทุกเวลา  หรือถ้าปลูกในฤดูฝนก็จะยิ่งดี  ควรจะปลูกตั่งแต่เดือนพฤษภาคม   แต่ถ้าพื้นที่ของเกษตรกรเป็นพื้นที่นาหรือที่ต่ำน้ำท่วมขังควรจะเลือกปลูกในฤดูแล้งคือควรจะเริ่มปลูกในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน  เพราะพื้นที่ต่ำถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนในขณะที่ฝนตกชุก  กล้าไผ่ที่ปลูกใหม่ยังไม่มีรากมากนัก  ยังไม่แข็งแรง หากมีน้ำขังหลุมปลูกมาก  ต้นไผ่ที่ยังเล็กจะเหลือง รากเน่าไม่ค่อยโตและอาจตายไปในที่สุด    การเตรียมพื้นที่ควรจะไถพื้นที่ตั้งแต่ช่วงฤดูแล้งเพื่อเปิดหน้าดินและตากดินไว้  พอฝนมาก็ให้ไถดะอีกรอบพร้อมทั้งไถแปร จากนั้นคาดดินให้เรียบ  จึงพร้อมที่จะปลูกไผ่ได้ต่อไป
     ไผ่กิมซุ่งจะใช้ระยะปลูก  ระยะระหว่างแถว  4  เมตร  ระยะระหว่างต้น  4  เมตร จะใช้ต้นพันธุ์ อยู่ที่   100  ต้นต่อไร่  จะเก็บหน่อไม้อยู่นานได้  5  ปีถึง  7 ปี กว่ากอจะชนกัน  แต่หากเกษตรกรใช้ระยะปลูกคือระยะระหว่างแถว  6  เมตร  ระยะระหว่างต้น  4  เมตร  จะใช้ต้นพันธุ์  66   ต้น จะเก็บหน่อได้นานขึ้น ประมาณ  7 ปี ถึง  10  ปีกว่ากอจะชนกัน  หลุมปลูกไผ่กิมซุ่ง  จะขุดหลุมที่ระยะ  30*30*30  เซนติเมตรถ้าพื้นที่เป็นดินร่วนถึงร่วนปนทราย (แต่ถ้าเป็นดินลูกรังปนหินควรจะขุดให้กว้างกว่านี้เป็น 50*50*50 และหาดินดำ  แกลบ  ขี้เถ้าแกลบหรือปุ๋ยคอกเก่า คลุกหลุมก่อนปลูก )  ถ้าหากเกษตรกรจะรองก้นหลุมก็ควรจะใช้  ขี้เถ้าแกลบไม่ควรจะใช้ปุ๋ยคอกเพราะถ้าปลูกในฤดูฝนหากฝนตกหนักจะทำให้รากไผ่ที่กำลังออกมาใหม่ๆ เน่าได้ทำให้ต้นไผ่กิมซุ่งเหลือง  ชะงักการเจริญเติบโต   กว่าจะโตก็นานขึ้น  เวลาปลูกที่ดีคือเดือน พฤษภาคม  เมื่อได้กล้าไผ่กิมซุ่งมาก็ทำการปลูก  ควรจะปลูกให้ดินที่ปากถุงเสมอดินเดิมที่ปลูก  ไม่ควรจะปลูกต่ำกว่าดินเดิมที่เตรียมไว้  เพราะถ้าฝนตกหนักจะทำให้รากไผ่ที่งอกมาใหม่ๆเน่าได้จากน้ำฝนที่ขังนานๆ
     ถ้าหากพื้นที่ของเกษตรกรเป็นพื้นที่ต่ำ  ไม่ควรจะปลูกในฤดูฝน  ในฤดูฝน ฝนจะตกหนัก ทำให้น้ำขังหลุมบ่อย  จะทำให้ไผ่กิมซุ่งเหลืองและจะไม่โต แม้ว่าไม่ตายแต่ก็ไม่โต   ไผ่กิมซุ่งแม้ว่าน้ำท่วมจะไม่ตายแต่ก็ต้องกอใหญ่มากกว่า  1  ปีไปแล้ว  แต่ถ้าปลูกใหม่ๆยังไม่ทนต่อน้ำท่วมขังบ่อยๆ   พื้นที่ต่ำควรจะปลูกในเดือนตุลาคม  ในฤดูแล้งก็ต้องให้น้ำ  แต่พอย่างเข้าฤดูฝนไผ่กิมซุ่งก็ตั้งตัวได้และทนสภาพน้ำขังเมื่อฝนตกหนักได้  พื้นที่ต่ำควรจะขึ้นแปลงทำร่องระบายน้ำด้วยครับ
          การดูแลไผ่กิมซุ่งเมื่อปลูกไปแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ไผ่กิมซุ่งโตต่อเนื่องไม่หยุดชะงักเพื่อให้โตพอที่จะมีลำใหญ่ที่จะใช้เป็นลำแม่  มีอย่างน้อย  2-3  ลำเป็นลำที่มีขนาด ไม่ต่ำกว่า  1.5-2  นิ้วขึ้นไปภายในเวลาไม่เกิน  8  เดือน เพื่อจะเก็บหน่อไปกิน  ขาย หรือแจกได้   ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก  เกษตรกรจะต้องมีเวลาอยู่กับต้นไผ่  ถ้าคิดว่าไผ่เหมือนไม้ป่าทั่วไป  ไงๆก็ต้องโตดีแน่ๆ  ไม่ต้องสนใจมากนัก  นานๆมาดูสักครั้ง  อย่างนี้พอแปดเดือนตามที่ผู้ขายพันธุ์ว่าไว้ก็ยังไม่ได้ต้นใหญ่ ก็หาว่าผู้ขายพันธุ์โกหก    แต่หากเกษตรกรคิดว่าปลูกไผ่เหมือนปลูกผัก  ต้องดูแล กำจัดหญ้า ให้น้ำ  ให้ปุ๋ยตามี่ไผ่กิมซุ่งต้องการ  ดูบ่อยๆเห็นปัญหา  เห็นการเปลี่ยนแปลง  ถ้าคิดอย่างนี้ไม่เกิน  8  เดือนได้ลำใหญ่พร้อมที่จะเก็บหน่อกิน  ขาย  แจกได้แน่นอน
การให้ปุ๋ยกับไผ่กิมซุ่ง

          หลังจากปลูกไผ่กิมซุ่งไปแล้ว  ให้น้ำเพียงอย่างเดียวไปสักระยะหนึ่ง  (ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องให้) รอเวลาผ่านไปประมาณ  40  วันสังเกตุต้นไผ่กิมซุ่งดู  ถ้ามียอดอ่อนแตกใหม่  หมายความว่ารากของไผ่กิมซุ่งเริ่มออกหาอาหารแล้ว  ก็สมควรให้ปุ๋ยได้แล้ว  ไผ่กิมซุ่งถ้ายังสร้างใบได้ไม่มากพอก็จะยังไม่ยอมแตกหน่อใหม่  เกษตรกรควรจะให้ปุ๋ยอย่างต่อเนื่องและพอเพียง  ไผ่กิมซุ่งถึงจะมีใบเขียวเข้มและพร้อมที่จะสร้างหน่อแรก   การให้ปุ๋ยเมื่อปลูกไผ่กิมซุ่งในระยะแรกๆ  ต้นไผ่ยังเล็กอยู่ต้องระวังเรื่องปุ๋ยต้องไม่มากจนเกินไปเพราะความเข้มข้นของปุ๋ยจะทำให้รากไผ่ที่แตกออกมาใหม่ๆและมีน้อยอยู่เน่าและแห้งไปได้ 
          - ปุ๋ยครั้งแรกเมื่อปลูกไผ่ผ่านไปประมาณ  40  วัน  ถ้าใช้มูลวัวแห้ง  3  กระป๋องนมมะลิโรยรอบๆกอไผ่   พอเดือนที่ 3  หลังปลูกใช้มูลวัวแห้งเพิ่มขึ้นได้  เป็น  10  กระป๋องนมมะลิ โรยรอบๆกอไผ่ พอเข้าเดือนที่  6  หลังปลูกก็ให้เพิ่มเป็น  1  ถังน้ำขนาด  10  ลิตรที่ใช้ทั่วๆไปโรยรอบๆกอไผ่ให้กว้างขึ้น   ก่อนให้มูลวัวควรกำจัดหญ้าก่อนทุกครั้งเพื่อไม่ให้แย่งปุ๋ยกับไผ่และควรหาฟางข้าวหรือแกลบหรือหญ้าแห้งกลบเมื่อไผ่ยังเล็กๆอยู่จะทำให้หญ้าขึ้นช้าและอุณหภูมิของดินไม่เปลี่ยนแปลง  ต้นไผ่จะโตเร็วขึ้น
          -ปุ๋ยครั้งแรกถ้าให้เป็นมูลไก่จะให้น้องกว่ามูลวัวเพราะมูลไก่มีความเข้มข้นสูงกว่า  จะให้ครั้งแรกเมื่อปลูกไผ่ผ่านไปประมาณ  40  วัน ใช้มูลไก่ไข่  1  กระป๋องนมมะลิ  โรยรอบๆต้นไผ่ห่างจากโคนต้นไผ่ประมาณ  20  เซนติเมตร  อย่าใส่ชิดโคนไผ่เด็ดขาดเพราะมูลไก่ไข่มีความเข็มข้นสูงมาก  ใส่ห่างให้รากไผ่ออกไปเลือกกินเอง  รากไผ่จะรู้วิธีว่าจะเข้าหามูลไก่ยังไงเอง  พอเดือนที่  3  หลังจากปลูก  ให้มูลไก่  2  กระป๋องนมมะลิ  โดยโรยรอบๆกอไผ่ห่างจากโคนไผ่ราวๆ  20  เซนติเมตรเช่นเดิม (แต่กอไผ่เริ่มมีหน่อใหม่การใส่จึงห่างจากจุดเดิม)  พอเข้าเดือนที่  6  หลังจากปลูกให้ใส่มูลไก่ไข่ประมาณ  1  กระป๋องน้ำมันเครื่องขนาด  5  ลิตรตัดเป็นปากฉลามแล้วตัดใส่  1    ครั้งโรยรอบๆ  กอไผ่ห่างจากกอราวๆ  20-30  เซนติเมตร (กอไผ่เริ่มมี  หลายลำ) ก่อนที่จะใส่มูลไก่ควรจะกำจัดหญ้ารอบๆกอไผ่ก่อนเพื่อไม่ให้แย่งปุ๋ยกับต้นไผ่  และเมื่อใส่ปุ๋ยแล้วหาวัสดูคลุมดินเช่นฟางข้าว  หญ้าแห้ง  หรือแกลบใส่รอบๆโคนไผ่เพื่อไม่ให้หญ้าขึ้นไวและรักษาอุณหภูมิของดินและความชื้น 
          -ส่วนการใช้ปุ๋ยเคมี  ถ้าใช้ได้ร่วมกับปุ๋ยมูลวัวแห้งหรือมูลไก่ไข่ก็จะยิ่งทำให้ต้นไผ่โตดีและเร็ว  ในระยะ  40  วันหลังจากปลูกไผ่แล้ว  ก็ให้ใช้ปุ๋ย  46-0-0  หรือยูเรียละลายน้ำโดยใช้ปุ๋ยยูเรีย  3  ช้อนโต๊ะ(ห้ามใช้ยูเรียมากกว่านี้เพราะจะทำให้ต้นไผ่เหี่ยวตายได้เพราะต้นไผ่ยังเล็กและมีรากน้อยอยู่)  ต่อน้ำ  10  ลิตร  ละลายให้เข้ากับน้ำ  แล้วนำไปรดที่โคนไผ่โดยให้ต้นละ  1  แก้วน้ำ 
รดทุกๆ  15  วันจนไผ่มีใบเขียวเข้มและเริ่มสร้างหน่อแรก  สร้างหน่อที่สอง   ก็เริ่มหยุดรดปุ๋ยน้ำได้   ต่อไปเมื่อไผ่มีอายุได้  4  เดือนหลังจากปลูกเป็นต้นไป  (กอไผ่เริ่มมีลำและหน่อไม่ต่ำกว่า 3-4  ลำแล้ว)  ก็ให้ใช้ปุ๋ย 46-0-0  ผสมกับปุ๋ย 15-15-15  อย่างละ  1  ส่วน  แล้วนำไปใส่บริเวณรอบๆโคนไผ่   โดยใส่ใต้ปุ๋ยคอกที่ใส่ไว้แล้ว    โดยแบ่งใส่สัก  4  จุด  ห่างจากโคนต้นไผ่ราวๆ  30  เซนติเมตร  ใส่จุดละ  ครึ่งช้อนโต๊ะ  จะใส่ปุ๋ยสูตรนี้เดือนละ  1  ครั้ง  เพราะเป็นช่วงที่ไผ่กิมซุ่งสร้างกอ  จะมีหน่อแทงออกมาตลอด  เกษตรกรจะได้ลำไผ่ใหญ่เร็วภายในไม่เกิน  8  เดือน
          เมื่อเริ่มเก็บหน่อจำหน่ายจะใส่ปุ๋ยเดือนละครั้งหรือเร็วกว่านี้ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรตัดหน่อออกไปมากน้อยเพียงใด  ถ้าตัดหน่อไปมาก  ต้นไผ่จะเสียอาหารมาก  อาหารที่ให้จะถูกใช้หมดอย่างรวดเร็ว ให้สังเกตุดูว่าถ้าหน่อมีขนาดเล็กลง  หลายหน่อเริ่มลีบนั่นก็คือต้องให้ปุ๋ยได้แล้วโดยใช้ปุ๋ยคอกเช่นมูลไก่ร่วมกับปุ๋ยเคมี  ใส่โดยใช้หว่านให้ทั่วๆทรงพุ่มได้แล้วเพราะใต้โคนไผ่ไม่มีแดดส่องและรากไผ่มีอยู่กระจายทั่วไป  ปุ๋ยที่ใส่จะไม่สูญเสียไปไหน  เมื่อใส่ปุ๋ยต้องให้น้ำทันทีเพื่อให้ปุ๋ยละลาย  และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนและเกษตรกรไม่เก็บหน่อแล้วก็ลดปุ๋ยลงได้เหลือเพียงใส่พอประมาณให้ลำแม่สร้างลำแม่ใหม่ได้สมบรูณ์
การให้น้ำไผ่กิมซุ่ง

          หากเกษตรกรปลูกไผ่ในฤดูฝน  แทบจะไม่ต้องให้น้ำเลย  จะให้ก็ครั้งแรกที่ปลูกให้รดน้ำทันทีให้ชุ่มเพื่อให้ดินจับกันแน่น  รากไผ่จะดูดน้ำได้ดินจะต้องจับกันแน่นกับรากเพื่อให้รากไผ่ดูดน้ำแบบระบบดูดชึม(ออสโมซิส)  ถ้าไม่รดน้ำทันที  ถ้ามีแดดออกต้นไผ่จะเหี่ยว  ฝนจะตกหรือไม่ตกต้องรดน้ำครั้งแรกที่ปลูกไว้ก่อน  ตรงนี้สำคัญ  เกษตรกรหลายคนไม่เข้าใจ  คิดว่าปลูกในฤดฝนดินยังมีความชื้นอยู่ก็ไม่รดน้ำ  หากฝนไม่ตกในวันที่ปลูกแบบหนักๆ  ไผ่จะตากไปหลายต้นทีเดียว   ส่วนเกษตรกรที่เลือกปลูกไผ่ในฤดูแล้งเพราะที่ดินเป็นที่ลุ่มต่ำ ก็ต้องหาวิธีการให้น้ำ  ถ้าปลูกใหม่ยังไม่ต้องลงทุนมากก็ใช้น้ำเข้าร่องตักรดไปก่อนได้  หรือถ้าปลูกไม่มากก็ใช้สายยางรดเป็นต้นๆไปก่อนได้  แต่เมื่อไม่ว่าจะปลูกหน้าฝนหรือหน้าแล้งพอปลูกไปได้  8 เดือนไผ่กิมซุ่งพร้อมจะให้หน่อ  ก็จำเป็นต้องลงทุนเรื่องระบบน้ำ  เพราะกำลังจะมีรายได้จากการจำหน่ายหน่อ  และไผ่กิมซุ่งต้องการน้ำมากในการให้หน่อ
          ถ้าพื้นที่ปลูกเป็นที่ต่ำเช่นที่นา  เกษตรกรอาจจะใช้การสูบน้ำเข้าขังพอน้ำไปทั่วๆแปลงไผ่ก็หยุดให้น้ำปล่อยให้แห้งภายใน  1-2  วัน  วิธีนี้เป็นวิธีที่ประหยัดและได้ผลดี  เพราะต้นไผ่ได้น้ำเต็มที่จะทำให้หน่อดกมาก  และน้ำอยู่ได้นานหลายวัน  พอเห็นว่าดินเริ่มแห้งก็สูบน้ำให้ใหม่  ราวๆประมาณ  10-15  วัน  แต่ในฤดูฝนไม่ต้องให้น้ำอาศัยน้ำฝนได้แต่หน่อก็ราคาถูกมากเหลืออยู่ที่กก.ละ  3-6  บาท
          ถ้าพื้นที่ปลูกไผ่เป็นที่ลาดเท  ที่ดอน พื้นที่ไม่เท่ากัน  ก็จำเป็นต้องให้น้ำแบบสปิงเกอร์  โดยใช้สายพีอี  ที่ดีที่สุดใช้สายพีอีแบบ  25  มิลลิเมตร  พื้นที่  1  ไร่จะใช้สายพีอี  2  ม้วน (  400 เมตร) ต่อกับท่อพีวีซี  2  นิ้วซึ่งเป็นท่อเมนต์ใช้ข้อต่อทดและวาวน้ำ  และใช้ปั้มน้ำ  2  นิ้วมอเตอร์  2-3  แรงม้า  แถวของไผ่ที่ใช้สายพีอีไม่ควรจะเกิน  50  เมตรเพราะน้ำจะแรงถึงปลายสาย  ต้นไผ่  1  กอถ้าช่วงที่ให้หน่อแล้วควรจะเจาะรูใต้กอไผ่ราวๆ  2-3  รูน้ำถึงจะพอที่จะทำให้หน่อออกดกและต่อเนื่อง  ไผ่กิมซุ่งกินน้ำเก่งมาก  ถ้าให้น้ำไม่พอหน่อจะไม่ค่อยออกในช่วงฤดูแล้ง   การให้น้ำในช่วงฤดูแล้งคือเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนเมษายน  จะให้ทุกๆ  3 วัน ครั้งละ  1-2  ชั่วโมงต่อแถวของไผ่ที่ให้  สังเกตุดูว่าจะให้นานเท่าไหร่ก็หาเหล็กเส้น 2  หุนแทงลงดินรอบๆกอไผ่ที่น้ำซึงไม่ถึง  ถ้าแทงไม่เข้าก็ให้น้ำต่อไปอีก  ถ้าแทงเข้าไป  10  เซนติเมตรก็ยังไม่พอ  จะต้องแทงเหล็กให้เข้าดินลึกราวๆ  25  เซนติเมตรถึงจะชุ่ม  เกษตรกรหลายคนบอกให้น้ำทุกวัน  แต่ไม่เคยเอาเหล็กทดสอบแทงลงดินดู  คิดว่าให้ทุกวันแล้วพอกิน  สายพีอีเป็นสายเล็กๆ  ถ้าใช้เวลาน้อยน้ำที่ให้ไผ่จะไม่พอให้ไผ่กิน  หน่อจะไม่ออก  หรือออกน้อยในช่วงฤดูแล้งและเป็นช่วงที่หน่อมีราคาแพงเกษตรกรอยากให้หน่อออกมากๆ  แต่น้ำให้ไม่มากพอหน่อก็ออกน้อย    แต่พอฤดูฝนมาถึงก็อาศัยน้ำฝนต่อได้เลย  แต่หน่อก็จะเริ่มถูกลงเพราะมีหน่อไม้อื่นๆออกมามากเพราะได้น้ำฝนเหมือนกัน

การตัดแต่งกิ่งและการไว้ลำไผ่กิมซุ่ง

          ไผ่กิงซุ่งช่วงที่เกษตรกรไปซื้อจากร้านหรือสวนที่ขายพันธุ์  ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกต้นกล้าไผ่กิมซุ่งที่มีรากเต็มถุงแล้ว สังเกตุคือถ้าจับต้นหิ้วแล้ไม่หลุดและให้ดูใต้ถุงดำว่ารากเดินทะลุถุงดำหรือยัง  และถ้ามีหน่อเล็กๆโผล่ออกมาจากดินยิ่งดีนั่นหมายความว่ากล้าไผ่กิมซุ่งที่ร้านหรือสวนที่ขายได้ใส่ถุงนานไม่ต่ำกว่า  4  เดือนแล้วเกษตรกรจะได้กล้าที่แข็งแรงพร้อมที่จะแตกรากและออกหน่อได้ไวหลังจากปลูก   ระหว่างที่ปลูกต้องดูแล  ให้น้ำ  ให้ปุ๋ยกำจัดวัชพืช   เมื่อให้ปุ๋ยไปได้ไม่นาน หน่อแรกก็จะออกมา  เมื่อเกษตรกรให้ปุ๋ยต่อเนื่องโดยไม่ขาด  หน่อที่สองก็จะออกมากและมีขนาดใหญ่กว่าหน่อแรกมาก   ไม่เกิน  3  เดือนหลังจากปลูกก็จะได้หน่อที่ สาม ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่จะทำเป็นต้นแม่ได้  การตัดแต่งกิ่งจะไม่ได้ทำเลยคอยแต่กำจัดวัชพืชอย่างเดียวเพื่อไม่ให้รกและแย่งอาหารจากไผ่  ที่เราไม่ตัดแต่กิ่งและใบไผ่กิมซุ่งเลยเพราะช่วงที่ไผ่กำลังสร้างกอต้องการใบที่มีมากพอ  ที่จะสร้างหน่อน่อเนื่อง  ถ้าเราเผลอไปตัดใบไผ่ทิ้งจะทำให้การออกหน่อชะงักทันที   เมื่อดูแลต่อไประหว่าง  4-6  เดือนหลังจากปลูก  หน่อให้ลำแม่ใหญ่จะออกมาได้   3   หน่อโดยทะยอยออก  เกษตรกรจะต้องเลือกว่าจะไว้เป็นลำแม่สังเกตุดูว่าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำจะต้องไม่ต่ำกว่า   2  นิ้ว  พอหน่อเริ่มพุ่งสูงขึ้นโดยปล่อยให้สูงไปเรื่อยๆ พอเกิน  4  เมตรก็จะเริ่มเห็นข้อของลำไผ่  แต่ลำไผ่ยังไม่แตกกิ่งแขนงและใบ  ลำยังอ่อนอยู่ให้ตัดยอดของลำทิ้งโดยตัดที่ประมาณ  3-4  เมตร การตัดช่วงที่ลำไผ่ยังไม่มีกิ่งและใบเนื้อของลำไผ่ยังอ่อนอยู่จะทำให้ตัดง่าย  ไม่ต้องออกแรงมาก  และอาหารที่ไม่ต้องส่งให้ลำสูงไปกว่านี้ก็จะไปกระตุ่นให้ออกกิ่งและใบเร็วขึ้นและจะไปทำให้หน่อที่โผล่ขึ้นมาเป็นลำแม่โผล่ได้เร็วขึ้น  อีกไม่นานก็จะมีหน่อโผล่จากดินครบทั้ง  3 ลำพอดีพร้อมที่จะเป็นลำแม่  ให้ตัดยอดทิ้งทั้ง  3 ลำ ที่เลือกไว้เป็นลำแม่  เกษตรกรต้องรอให้ลำแม่ทั้ง  3  ลำมีกิ่งก้าน  และใบแก่เป็นสีเขียวเข้มนั่นหมายความว่าลำแม่ที่เลือกไว้ทั้ง  3  ลำต่อกอพร้อมที่จะให้หน่อแล้ว   ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่จะตัดลำเล็กๆที่เกิดก่อน  1-3  ลำ พร้อมกับต้นตอที่ซื้อมาในถุงดำออกได้แล้วโดยตัดให้ชิดดิน  เมื่อตัดต้นเล็กๆทิ้งไปแล้วก็จะเหลือต้นที่เลือกไว้  กอละ  3  ต้น (จากที่เริ่มปลูกจนมาถึงการไว้ลำแม่  3 ลำจะใช้เวลาไม่เกิน  8  เดือน หากมีการดูแลต่อเนื่อง)  จากนั้นก็ริดกิ่งแขนงข้างออก  โดยดูว่าเดินแล้วไม่ชนศรีษะ  ไม่แทงหน้าแทงตา  ให้พอเข้าไปเก็บหน่อสะดวก  การตัดกิ่งแขนงควรตัดให้ชิดกับลำต้นไผ่  ตาจะได้ไม่แตกออกมาใหม่  (แต่ถ้าเกษตรกรต้องการปลูกเพิ่มก็ให้เกษตรกรตอนออกไปปลูกเพิ่มอีกได้โดยไม่ต้องซื้อไผ่กิมซุ่งอีกเลย)   กิ่งแขนงด้านล่างมักจะไม่ถูกแดดเต็มที่  ไม่ได้สังเคราะห์แสงเพื่อสร้างแป้ง  จะกินอาหารจากกิ่งด้านบนที่ทำหน้าที่สังเคราะห็แสงจาดแดด  หากเกษตรกรตัดทิ้งหรือตอนออกไปจะทำให้ต้นไผ่ไม่ต้องเสียอาหารมาเลี้ยง  อาหารจะถูกส่งไปสร้างหน่อใหม่เพื่อจะขยายกอ  (ไผ่กิมซุ่งเขาจะต้องสร้างกอมากๆมีหลายๆลำ  เมื่อเราตัดลำออกให้เหลือกอละ  3  ลำ โดยธรรมชาติของไผ่ก็จะพยายามสร้างหน่อใหม่ขึ้นมาทดแทน  เกษตรกรก็เริ่มตัดหน่อออกจำหน่ายได้เลย  การตัดหน่อควรจะตัดให้ถึงส่วนที่เป็นเส้นใย(จะเป็นที่อยู่ของตาหน่อ)  ให้เหลือตาที่สำหรับเป็นหน่อได้อีก  2-4  ตา

          หากเกษตรกรปลูกไผ่กิมซุ่งเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายน   เมื่อถึงเดือนธันวาคมจะต้องมีลำแม่  3 ลำและตัดแต่งลำต้น  ตัดแต่งกิ่งแขนง  ให้ปุ๋ยคอกปุ๋ยเคมีพร้อมแล้ว เกษตรกรเมื่อให้น้ำต่อเนื่องตั่งแต่เดือนพฤศจิกายนมา   เดือนมกราคมเกษตรกรสามารถที่จะขายหน่อครั้งแรกได้ราคาสูงสุดของปีนั้นๆ  และจะขายได้ต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์  มีนาคม  เมษายน  พฤษภาคม  ถ้าฝนมาเร็วราคาหน่อก็จะลงเร็วเพราะมีหน่อของสวนอื่นๆออกมามาก  น้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ  ถ้ามีน้ำก็จะทำให้หน่อออกได้ในช่วงที่หน่อของสวนอื่นๆที่ไม่มีน้ำและหน่อป่า   ยิ่งปีไหนฝนมาช้ามากๆ หรือที่เรียกว่าภัยแล้ง เกษตรกรที่มีน้ำก็จะได้ราคาหน่อที่แพงนานหลายเดือน  ระหว่างเก็บหน่อการตัดแต่งกิ่งจะไม่ทำเลย  ถ้าไปยุ่งกับกิ่งหรือใบ  แม้แต่การตอนกิ่งจำหน่ายก็ทำไม่ได้  (แปลงทำพันธุ์ต้องเป็นแปลงที่ไม่คิดจะเก็บหน่อ)  หน่อจะสะดุดทันที   ถ้าเลือกหน่อขายก็ต้องไม่เลือกทำพันธุ์  หากมีลมพายุมากระทบถ้าแรงจนกอไผ่โค่นล้มไปหลายต้นหน่อก็จะสะดุดไม่ออก  และที่ออกมาแล้วก็ฝ่อไป  ผมจึงให้ตัดยอดของไผ่ทิ้งไปตั้งแต่ยังไม่มีใบ(ไผ่กิมซุ่งจะปรับตัวและสร้างใบขึ้นมาโดยอาศัยอาหารจากต้นเดิมที่เรายังไม่ได้ตัดทิ้ง เพราะถ้ามาตัดตอนเก็บหน่อจะตัดไม่ได้หน่อจะไม่ออก (ช่วงเก็บหน่อต้องใช้ใบในการสร้างอาหารไปเลี้ยงหน่อ)  ในช่วงที่หน่อมีราคาแพงมักจะมีพายุฤดูร้อนมาหลายๆละลอก  สวนไหนที่ไม่ตัดยอดความเสียหายจะมากกว่าสวนที่ตัดยอดซึ่งเป็นโอกาสที่จะมีรายได้ในช่วงฤดูแล้งของการทำหน่อนอกฤดู

          ผมเขียนเรื่องการปลูกกิมซุ่งทำอย่างไรให้สามารถตัดหน่อได้ภายในไม่เกิน  8  เดือนหลังจากปลูกและตัดได้ต่อเนื่องในช่วงนอกฤดู  ส่วนการทำให้ไผ่กิมซุ่งออกนอกฤดูในปีถัดไปให้อ่านจากหัวข้อการทำไผ่กิมซุ่งให้ออกนอกฤดู   หากข้อมูลที่เขียนขึ้นมาด้วยความตั้งใจจะให้ไผ่กิมซุ่งเป็นพืชตัวหนึ่งในสวนของท่าน  ที่จะให้ท่านได้มีรายได้คุ้มจากการทำไผ่นอกฤดู  หากท่านเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อท่านๆ  ท่านก็ไม่ต้องนำไปปฏิบัติ  หากมีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านผมก็มีความยินดี  และจะได้แนะนำการปลูกไผ่บงหวานจากประสบการณ์ให้มีรายได้จากการขายหน่อที่อยู่ได้ต่อไป

          หากสงสัยสามารถสอบถามหรือศึกษาดูงานได้ที่  สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง   91  ม.4  ต.แม่จั๊วะ  อ.เด่นชัย  จ.แพร่  โทร. 083-2663096  โดยนายวรรณบดี  รักษา




   ไผ่หวานเพชรล้านนาที่สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง  ได้สายพันธุ์นี้มาใหม่จากชายแดนไทย-ลาว   ทดลองปลูก  4  ไร่เพื่อผลิตหน่อที่ชิมดิบหวานทำอาหารใช้เวลา 5  นาที  สามาทำให้หน่อออกสู่ตลาดในเดือน มกราคม  จนถึงเดือนมิถุนายนได้ซึ่งเป็นช่วงที่หน่อขาดแคลน  ทำให้ขายหน่อไม้หวานเพชรล้านนาได้ราคาสูงในฤดูแล้งและยังขายได้ในฤดูฝนราคาต่ำลงมาไม่มาก เพราะรสชาติหน่อต่างจากหน่อจากป่า





   ไผ่หกหวานเพชรภูเรือ    เป็นไผ่ที่ให้หน่อขนาด  1-3  กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่  ต้นสูง  15  เมตรขึ้นไป  เส้นผ่าศูนย์กลางลำไผ่  3-4  นิ้ว  หน่อมีรสชาติหวานเมื่อชิมดิบ  หวานกว่าไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งแต่ไผ่หวานเพชรภูเรือมีเส้นใยมากกว่า   ไผ่หกหวานเพชรภูเรือพบอยู่ที่ประเทศลาวมาก  และพบที่จ.เลยที่อ.ภูเรืออยู่ตามบ้าน   ในแต่บางหมู่บ้านจะพบไม่กี่กอ  มีเกษตรกรนำออกไปปลูกทางภาคกลางเรียกชื่อการค้าอีกชื่อว่าไผ่หวานยอดสยาม   และพบที่ดอยอ่างขางเรียกว่า ไผ่หวานลำปาง  นอกจากหน่อจะให้รสชาติที่อร่อยสามารถปรุงอาหารได้หลายเมนูและใช้เวลาน้อย  มีผู้นำหน่อสดไปตรวยพบว่าไม่มีสารไซยาไนด์อยู่ซึ่งต่างจากหน่อไม้ป่าที่พบสานไซยาไนด์อยู่มากอาจจะเป็นหน่อไม้ป่ามีรสขมมาก  ต้องต้มน้ำทิ้งหลายน้ำและเป็นการกำจัดสารไซยาไนด์ไปในตัว   ส่วนการใช้ประโยชน์จากไม้  ลำไม้ไผ่ของไผ่หกหวานเพชรภูเรือสามารถนำไปทำตะเกียบและไม้เสียบอาหารได้  เนื่องจากลำไผ่ตรงและไม่หนาจนเกินไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 23, 2011, 10:29:14 PM โดย ไผ่หวาน » บันทึกการเข้า

สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง
หน้า: [1] 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 ... 192   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: